- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 25 August 2019 23:16
- Hits: 5608
3 การไฟฟ้า ผนึกกำลังตำรวจ สคบ. ทลายเครือข่ายผลิตภัณฑ์แอบอ้างว่าสามารถประหยัดไฟฟ้าได้
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แถลงข่าวร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ณ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ยืนยันว่าอุปกรณ์ช่วยประหยัดไฟฟ้าหรือช่วยลดค่าไฟฟ้าภายในบ้านดังกล่าว ‘ไม่มีอยู่จริง’
PEA กฟน. กฟผ. ร่วมกับบก.ปคบ. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บก.ปอท. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ทลายเครือข่ายผลิตภัณฑ์ที่แอบอ้างว่าสามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ โดยโพสต์ผ่านเว็ปไซต์ https://newtoday.info/power-th3/landing/ และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ว่ามีผลิตภัณฑ์สามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าโดยจะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 20-30% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าในครัวเรือน ทั้งยังละเมิดแอบอ้างหน่วยงานรัฐหรือผู้มีชื่อเสียงต่างๆ หรือนำภาพข่าว มาตัดต่อโฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงประชาชน สร้างความน่าเชื่อถือในช่องทางสื่อสารโฆษณา ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อถูกหลอกลวงเสียทรัพย์สินจำนวนมาก
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 16.00 น. นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ เลขานุการกรม หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ สคบ. พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผบก.ปคบ. พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. พ.ต.อ.ธวัช ปิ่นประยง รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.สมชาย จันทร์คง รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร ผกก.1บก.ปคบ. พ.ต.อ.เชษฐ์พันธ์ กิติเจริญศักดิ์ ผกก.2 บก.ปคบ. พ.ต.อ.ภาสกร ทุนทรัพย์ ผกก.สภ.พานทอง พ.ต.ท.เทพรัตน์ ศุกระกาญจน์ สว.กก.3 บก.ปอท. นำโดย พ.ต.ต.อนันต์ บัวแก้ว สว.กก.2 บก.ปคบ. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการร่วมสืบสวนติดตามกลุ่มขบวนการผู้กระทำผิดจนพบ และเข้าตรวจค้นสถานที่ จำนวน 2 แห่ง คือ
1. บ้านเลขที่ 335/17 และ 337/100 ซอยเคหะร่มเกล้า 31 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ตามหมายค้นศาลอาญามีนบุรีที่ ค.359/2562 และ ค.360/2562 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2562 พบนางสาวเกวียน ถิเหงียน อายุ 37 ปี แสดงตนเป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าว และนำตรวจค้น พร้อมทั้งให้การว่าทำหน้าที่ช่วยบรรจุสินค้าเครื่องช่วยประหยัดไฟฟ้าส่งให้แก่ลูกค้า โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องอีก ๓3 คน คือ นางสาวแพร ไม่ทราบนามสกุล นายฤทธิ์ ไม่ทราบนามสกุล (แฟน นางสาวแพร) ทำหน้าที่บรรจุและส่งให้แก่ลูกค้า และมีนายต้น สัญชาติเวียดนาม เป็นเซลล์ขายสินค้า โดยนายต้นฯ จะแวะมาประมาณสัปดาห์ละครั้ง หลังจากมีข่าวปรากฏทางสื่อโซเซียล ว่าสินค้าดังกล่าวไม่สามารถช่วยประหยัดไฟได้ นายโก้ ซึ่งเป็นนายทุนอยู่ที่ประเทศเวียดนาม สั่งให้หยุดกิจการ และย้ายไปหาสถานที่แห่งใหม่ ที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
ผลการตรวจค้นพบสิ่งของ 6 รายการ ดังนี้.-
1. อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า Power Factor พร้อมกล่องพัสดุสินค้า จำนวน 8 ตัว
2. อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า Power Factor พร้อมกล่องบรรจุ จำนวน 10 ตัว
3. สมุดบัญชีซื้อขาย จำนวน 7 เล่ม
4. เทปกาวแบบใส จำนวน 4 ม้วน
5. วัสดุกันกระแทก จำนวน 1 ม้วน
6. กล่องส่งพัสดุ จำนวน 1 มัด
รายการสิ่งของที่ตรวจพบ ปรากฏว่าฉลากสินค้ามีแต่ข้อความภาษาอังกฤษ ไม่มีข้อความภาษาไทยแต่อย่างใด จึงตรวจยึดไว้เพื่อตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดต่อไป
2. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พ.ต.ต.อนันต์ บัวแก้ว สว.กก.๒ บก.ปคบ. พร้อมชุดปฏิบัติการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พานทอง จังหวัดชลบุรี ขยายผลการตรวจค้น โดยนำหมายค้นของ ศาลแขวงชลบุรีที่ 17/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ไปตรวจค้นบ้านเลขที่ 300/11 หมู่ที่ 7 ตำบลพานทอง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ไม่พบผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าของ ผลการตรวจค้นพบสิ่งของ 6 รายการ ดังนี้.-
1. ผลิตภัณฑ์เครื่องประหยัดไฟฟ้า Power Factor Saver บรรจุในกล่องจำนวน 64 ตัว
2. ฝาครอบผลิตภัณฑ์เครื่องประหยัดไฟฟ้า Power Factor Saver จำนวน 88 ชิ้น
3. ตัวเครื่องเปล่าผลิตภัณฑ์เครื่องประหยัดไฟฟ้า Power Factor Saver จำนวน 93 ชิ้น
4. กล่องเปล่าบรรจุผลิตภัณฑ์เครื่องประหยัดไฟฟ้า Power Factor Saver จำนวน 47 ชิ้น
5. เอกสารสำคัญส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงิน จำนวน 1 ชุด
6. เอกสารอื่นๆ ซึ่งรายการสิ่งของที่ตรวจพบนี้ ปรากฏว่าฉลากสินค้ามีแต่ข้อความภาษาอังกฤษ ไม่มีข้อความภาษาไทยแต่อย่างใด จึงได้ทำการตรวจยึดไว้เพื่อทำการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดต่อไป
การตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากการตรวจค้นทั้ง 2 แห่ง พบข้อมูลว่าเพจดังกล่าวจำหน่ายเครื่องประหยัดไฟฟ้าเฉลี่ยวันละประมาณ 100 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 999 บาท โดยดำเนินการมาแล้วประมาณ 2 ปี มีรายได้ไปกว่า 50 ล้านบาท
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1. การกระทำดังกล่าวเป็นการขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก จากการตรวจสอบสินค้า ที่ได้จากการตรวจค้นปรากฏว่าข้อความฉลากสินค้ามีแต่ข้อความภาษาอังกฤษ ไม่มีข้อความภาษาไทยแต่อย่างใด ซึ่งสินค้าที่มีการควบคุมจะต้องปิดฉลาก และระบุรายละเอียดลงในฉลากให้ครบถ้วน หากผู้จำหน่ายสินค้าที่ควบคุมฉลาก ผู้ผลิต เพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อขาย ฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม มาตรา 30 และมาตรา 31 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2541
2. การนำอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้ามาแอบอ้างหลอกลวงจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริง โดยโพสต์ผ่านเว็บไซต์ หรือสื่อออนไลน์อื่นๆ ที่บุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูล เป็นความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อาญา มาตรา 343
3. นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2540 มาตรา 14
การดำเนินการโดยนำสิ่งของที่ได้จากการตรวจค้นและยึดได้ทั้งหมด นำส่งพนักงานสอบสวน กก.๑ บก.ปคบ. เพื่อตรวจสอบ และดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มผู้ที่กระทำผิดที่เกี่ยวข้องต่อไป
ข้อมูล :
- ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- การไฟฟ้านครหลวง
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)
- กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
Click Donate Support Web