- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 01 October 2014 10:47
- Hits: 2756
วันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8708 ข่าวสดรายวัน
รถติดก๊าซจ๊าก-เอ็นจีวีขยับ 1 บาทวันนี้ 'แอลพีจี'ขึ้น 62 สต. ตรึงช่วย! เมล์-ทัวร์
รถยนต์ติด ก๊าซจ๊าก! ปรับขึ้นราคาทั้งเอ็นจีวี-แอล พีจี กบง.เคาะเอ็นจีวีสำหรับยานยนต์ขึ้น 1 บาทต่อก.ก. เป็น 11.50 บาท แต่ให้ตรึงราคากลุ่มแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก รถตู้โดยสาร รถโดยสาร ให้ใช้ราคาเดิม 8.50 บาทต่อก.ก. ส่วนแอลพีจีภาคขนส่งปรับขึ้น 62 สตางค์ต่อก.ก. เป็น 22 บาทต่อก.ก. ให้เริ่มมีผลวันนี้ ด้าน "เจ๊เกียว" บุกคมนาคม ขอลดค่าขา-ปรับค่าโดยสารลอยตัว พร้อม ขอขยายอายุใช้งานรถโดยสารเป็น 15 ปี
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า กบง.มีมติปรับขึ้นราคาขายก๊าซธรรมชาติ (แอลพีจี) ภาคขนส่งขึ้น 62 สตางค์ต่อก.ก. ส่งผลให้ราคาขายหน้าสถานีบริการขึ้นมา อยู่ที่ 22 บาทต่อก.ก. จากเดิมอยู่ที่ 21.38 บาทต่อก.ก. เพื่อลดส่วนต่างระหว่างราคาแอลพีจีภาคขนส่งที่ถูกกว่าและแอลพีจีภาคครัวเรือน อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาภาคครัวเรือนลักลอบใช้แอลพีจีภาคขนส่ง
นายอารีพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีมติปรับขึ้นราคาขายก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ขึ้น 1 บาทต่อก.ก. เป็น 11.50 บาทต่อก.ก. จากเดิมอยู่ที่ 10.50 บาทต่อก.ก. เพื่อให้ราคาขายสะท้อนต้นทุนจริงมากขึ้น โดยในส่วนของรถสาธารณะ ได้แก่ รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้โดยสารสาธารณะ รถโดยสารสาธารณะ ทั้งรถร่วมองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ยังคงใช้ เอ็นจีวีในราคาเดิมที่ 8.50 บาทต่อก.ก. ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป
"ราคาแอลพีจีขนส่งที่ปรับขึ้นแม้ยังไม่เท่ากับครัวเรือน ส่วนเอ็นจีวีก็ยังไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่ควรเป็นในระดับ 15-16 บาทต่อก.ก. ดังนั้นในระยะต่อไปคงต้องทยอยปรับขึ้นให้สะท้อนต้นทุนทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะพิจารณาอีกครั้ง ตามนโยบายของคสช.เดิม อีกทั้งกระทรวงพลังงานยังคงมีนโยบายให้รถโดยสารสาธารณะใช้บัตรเครดิตพลังงาน เพื่อเป็นส่วนลดและเป็นบัตรเครดิตน้ำมันที่สามารถใช้ก่อนจ่ายทีหลังได้"นายอารีพงศ์กล่าว
นายอารีพงศ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง ส่งผลให้ค่าการตลาดสูงขึ้น กบง. จะมีมติเรียกเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของดีเซลเพิ่มอีก 40 สตางค์ จากเดิมจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอยู่ที่ 1.70 บาทต่อลิตร เป็น 2.10 บาทต่อลิตร โดยไม่มีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลแต่อย่างใด ทำให้กองทุนที่มีสถานะติดลบ 4,196 ล้านบาท จะมีเงินเข้ากองทุนเพิ่มขึ้นเดือนละ 3,484 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 2,841 ล้านบาท จึงคาดว่าภายใน 2 เดือนสถานะกองทุนจะกลายเป็นศูนย์และน่าจะพลิกสถานะกลับมาเป็นบวกได้ภายในเดือนพ.ย.
นายอารีพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีรถโดยสารสาธารณะประมาณ 75,000 คัน ที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งผลการปรับราคาจะทำให้ ปตท. ลดภาระการให้ส่วนลดน้ำมันแก่กลุ่มรถโดยสารสาธารณะเหลือ 133 ล้านบาทต่อเดือน คิดเป็นปริมาณก๊าซประมาณ 2,200 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังยืนยันนำเงินในส่วนที่ปรับราคาขายขึ้นครั้งนี้ไปใช้ดำเนินการขยายสถานีให้บริการให้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้แอลพีจีและเอ็นจีวีในภาคขนส่งและรถสาธารณะให้สามารถใช้บริการได้สะดวกยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ที่ได้รับผล กระทบจากการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวและติดตั้งระบบก๊าซทั้ง 2 ระบบ ซึ่งต้องรับภาระจากการปรับขึ้นราคาในวันที่ 1 ต.ค.นี้
ด้านนายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับขึ้นเอ็นจีวีครั้งนี้ ปตท.ได้ลงนามกับสหพันธ์ขนส่งทางบกที่ต้องสร้างปั๊ม เอ็นจีวีเพิ่มขึ้น 4 จุด ได้แก่ จ.ขอนแก่น 2 จุด ที่อ.น้ำพองทั้งขาเข้า-ขาออก อ.แก่งคอย จ.สระบุรี และอ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาบริการที่ไม่สามารถรองรับความต้องการได้ จากปัจจุบันมีอยู่ 497 แห่ง
นายชาครีย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลกลุ่มรถโดยสารสาธารณะและแท็กซี่ที่มีประมาณ 7.5 หมื่นคัน รถร่วมอื่นๆ 1.5 หมื่นคัน ปตท.จะดูแลให้ได้รับส่วนลดราคา เพื่อให้ได้ใช้ราคาเอ็นจีวีคงเดิมที่ 8.50 บาทต่อก.ก. อย่างไรก็ตาม ผลจากการปรับราคาครั้งนี้ ทำให้ ปตท. มีรายรับหรือลดภาระการให้ส่วนลดน้ำมันแก่กลุ่มรถโดยสารสาธารณะเดือนละ 133 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณก๊าซประมาณ 2,200 ตันต่อวัน
วันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวหลังเป็นประธานประชุมหารือช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะว่า ขณะนี้สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารได้มาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร ซึ่งขณะนี้ประสบปัญหาต้นทุนการให้บริการสูงมาก โดยผู้ประกอบการเสนอให้กระทรวงคมนาคม โดยคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง พิจารณาอนุมัติปรับลดค่าให้จ่ายตามความเป็นจริงที่รถวิ่งให้บริการ พิจารณาจัดตั้งกองทุนประกันภัยอุบัติเหตุรถโดยสารแบบรวม รวมถึงพิจารณาอนุมัติให้ ผู้ประกอบการปรับค่าโดยสารตามต้นทุนที่แท้จริง โดยกระทรวงคมนาคมได้รับข้อเสนอมาพิจารณา แต่ได้ให้สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารกลับไปจัดทำรายละเอียดทั้งหมดกลับมาเสนอใหม่
ด้านนางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคม ผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารต้องการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติให้ ผู้ประกอบการปรับราคาค่าโดยสารแบบลอยตัว รวมถึงให้ลดการเก็บธรรมเนียมค่าเที่ยววิ่งหรือค่าขา นอกจากนี้เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาตั้งกองทุนประกันภัยอุบัติเหตุรถโดยสารแบบรวม รวมถึงขอขยายอายุการใช้งานรถยนต์โดยสารจาก 5 ปี เป็น 15 ปี ส่วนสาเหตุที่ผู้ประกอบการต้องยื่นข้อเสนอแนวทางความช่วยเหลือให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัตินั้น เนื่องจากยอมรับว่า ผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารต้องแบกรับภาระต้นทุนการดำเนินการให้บริการสูงมาก
ขณะที่นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีก๊าซปรับราคาขึ้นว่า การที่ก๊าซขึ้นราคาทำให้ต้นทุนค่าขนส่งรถบรรทุกปรับเพิ่มขึ้นทันที 5 เปอร์เซ็นต์ แต่เบื้องต้นผู้ขับยังไม่ขึ้นค่าขนส่ง เพราะไม่ต้องการให้ผู้ใช้บริการเดือดร้อน แต่มีเงื่อนไขว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องเพิ่มจำนวนสถานีบริการเอ็นจีวีให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี เนื่องจากปัญหาใหญ่ของรถบรรทุกขณะนี้ไม่ใช่เรื่องต้นทุนขนส่ง แต่เป็นเรื่องจำนวนสถานีบริการเอ็นจีวีที่ไม่เพียงพอ จึงขอเรียกร้องไปยังรมว.พลังงาน ให้สั่งการไปยังปตท.เพิ่มปั๊มเอ็นจีวีให้เพียงพอ เพราะขณะนี้มีอีก 20 จังหวัดที่ยังไม่มีปั๊มเอ็นจีวี
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ กล่าวว่า ยอมรับการปรับโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ของกระทรวงพลังงานจะกระทบต่อต้นทุนการขับแท็กซี่เพียงเล็กน้อย และทำให้การขึ้นค่าโดยสารจะปรับเฉพาะในส่วนต้นทุนค่าครองชีพ 8-11 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น น้อยกว่าเดิมที่คาดว่าหากราคาพลังงานขึ้นมากอาจต้องปรับถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากในส่วนของรถแท็กซี่ที่ติดตั้งเอ็นจีวีปัจจุบันมี 6 หมื่นกว่าคัน จะจ่ายค่าแก๊สเท่าเดิมที่ ก.ก.ละ 8.50 บาท เพราะได้รับการชดเชยส่วนต่างราคาพลังงานจากรัฐบาล ขณะที่แท็กซี่ที่ติดตั้งแอลพีจีที่มี 1 หมื่นกว่าคัน จะได้รับผลกระทบจากค่าก๊าซเพิ่มวันละ 30 บาท ซึ่งยังพอแบกรับต้นทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ต้องหารือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อกำหนดอัตราการขึ้นค่าโดยสารว่าจะปรับเท่าไร เวลาใด และสัดส่วนในแต่ละช่วงแค่ไหน