- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 19 May 2014 23:51
- Hits: 3452
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 12–16 พ.ค. 57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 19–23 พ.ค. 57
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมัน โดยราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 109.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 105.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคา น้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 101.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 121.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 122.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· สำนักงานสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สหรัฐฯ บริเวณจุดรับมอบน้ำมันที่เมือง Cushing รัฐ Oklahoma ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 592,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 23.4 ล้านบาร์เรล และต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อนหน้า 52.9%
ชาติตะวันตกประกาศจุดยืนไม่ยอมรับผลการลงประชามติในจังหวัด โดเนตสค์ และจังหวัด ลูฮานสค์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมาที่เห็นชอบให้แยกตัวจากยูเครนและอยู่ระหว่างก่อตั้งรัฐบาลและกองกำลังทางทหาร อีกทั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสกล่าวกลุ่ม G7 จะเพิ่มระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย หากรัสเซียเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของยูเครนที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 พ.ค. ที่จะถึงนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ นาย Ernet Moniz ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาผ่อนปรนกฎหมายข้อบังคับห้ามส่งออกน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากแหล่งในประเทศ ทั้งนี้ปัจจุบันสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันดิบได้มากขึ้นโดยใช้ Hydraulic Fracturing แยกน้ำมันจากแหล่งหินดินดานทำให้ราคาน้ำมันดิบในประเทศอ่อนตัว ซึ่งหากสหรัฐฯ สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานยอดขายปลีก (Retail Sales) เดือน เม.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 11.9% และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนแค่ 8.7% ล้วนต่ำกว่าการคาดการณ์ของผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters นอกจากนี้การลงทุนในสินทรัพย์คงทน (Fixed-Asset Investment) เดือน ม.ค.-เม.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.3% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี เป็นสัญญาณชี้จีนยังเผชิญปัญหากำลังการผลิตล้นตลาด (Overcapacity)
Reuters รายงาน Implied Oil Demand (อุปสงค์น้ำมันที่คิดจากปริมาณน้ำมันดิบที่เข้าสู่กระบวนการกลั่นและปริมาณการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป โดยไม่ได้หักลบปริมาณการเก็บสำรอง) เดือน เม.ย. 57 ของจีนลดลงจากเดือนก่อน 0.8% มาอยู่ที่ 9.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เพราะโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศปิดซ่อมบำรุงและภาคเศรษฐกิจที่ไม่ร้อนแรงนัก
OPEC รายงานปริมาณผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศผุ้ผลิตน้ำมันเพื่อส่งออกในเดือน เม.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 130,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 29.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของอิรักและซาอุฯ เป็นหลัก และ ต่ำกว่าเพดานการผลิตที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากความกังวลว่าอุปทานน้ำมันอาจตึงตัว จากความขัดแย้งทางการเมืองในลิเบียที่ลุกลามเกิดการต่อสู้ระหว่างกองกำลังปฏิบัติการพิเศษของลิเบียกับฝ่ายต่อต้านในเมือง Benghazi เมื่อวันศุกร์ที่ 16 พ.ค. มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 คน ขณะที่วิกฤติยูเครนยังคงสนับสนุนราคาน้ำมัน และมีแนวโน้มตึงเครียดขึ้นจากหนี้ค่าก๊าซซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานของยูเครน กล่าวว่าราคาก๊าซฯ ที่ 485 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นการผูกขาดและไม่เป็นธรรม หากลดลงมาอยู่ที่ 268.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ยูเครนพร้อมชำระเงิน ขณะที่รัสเซียจะลดปริมาณส่งมอบก๊าซหากยูเครนไม่เริ่มชำระหนี้ในเดือนนี้ ให้จับตามองผลการเจรจาระหว่างอิหร่านและมหาอำนาจ 6 ชาติ ที่การเจรจารอบแรก วันที่ 14-16 พ.ค.นี้ มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย
ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศของอิหร่าน นาย Abbas Araqchi กล่าวว่า "เรายังไม่ถึงจุดที่จะเริ่มต้นร่างข้อตกลงขั้นสุดท้าย" ทั้งนี้ ทุกฝ่ายอยากให้บรรลุข้อตกลง ที่จะระงับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ทันตามกำหนดเวลาในวันที่ 20 ก.ค.นี้ และสัปดาห์นี้ให้จับตาการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของยูเครนวันที่ 25 พ.ค.ที่ชาติตะวันตกมองว่าจะผ่อนคลายวิกฤติในยูเครน และป้องกันไม่ให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนอีก ส่วนข้อขัดแย้งใดที่ยังไม่ยุติจะเป็นปัญหาของผู้นำใหม่ต้องจัดการ ซึ่งชาติตะวันตกคาดหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้มาก และประกาศว่าหากการเลือกตั้งมีอุปสรรคและพิสูจน์ได้ว่ารัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้อง จะเพิ่มการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้นต่อรัสเซียทันที ดังนั้นสถานการณ์ในยูเครนจึงกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 108.6-110.4เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 105-108 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 100.2-103.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้น จากความต้องการน้ำมันเบนซินช่วงฤดูขับขี่ของสหรัฐฯ และแผนจัดตั้งคลังเก็บสำรองน้ำมันเบนซินเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve หรือ SPR) บริเวณภาคตะวันออกเพื่อป้องกันการขาดแคลนในฤดูมรสุม ดังที่เคยเกิดเฮอริเคน Sandy ใน 2 ปีก่อนซึ่งรัฐบาลจะเช่าคลังน้ำมันที่มีอยู่แล้วจากเอกชนและซื้อน้ำมันจากตลาดเข้าคลังปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลเข้าเก็บสำรอง และกำหนดดำเนินการทันทีให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. 57 ขณะที่ประเทศมุสลิมหลายแห่งในภูมิภาคเก็บสำรองน้ำมันเบนซินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงการถือศีลอด เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. นี้ สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันเบนซินเคลื่อนไหวที่ระดับ 117-121 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจากความต้องการน้ำมันดีเซลในภุมิภาคที่แข็งแกร่งขึ้นเพราะอุปสงค์น้ำมันดีเซลเพื่อการเพาะปลูกของเอเชียเพิ่มขึ้น ประกอบกับ จีนราคาขายปลีกลง ลง 0.04 หยวนต่อลิตร มาอยู่ที่ 2.96 หยวนต่อลิตร และ ปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในยุโรป บริเวณ Amsterdam Rotterdam Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.6% อยู่ที่ระดับ 11.8 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 122.5-125 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล