- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 13 August 2019 19:48
- Hits: 2996
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2562
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 52 – 57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 56 - 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (12-16 ส.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตช้าลง ตามสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา จากผลกระทบของความรุนแรงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ฯ คาดปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบจะกลับมาดำเนินการผลิตเต็มกำลังหลังเผชิญพายุเฮอริเคน Barry ในช่วงเดือน ก.ค. 62 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดจะยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางยังไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลาย
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มยืดเยื้อ หลังการเจรจาระหว่างสองประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่บรรลุผล ส่งผลให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีนอีกร้อยละ 10 ของสินค้ามูลค่าราว 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมดจากประเทศจีน โดยการขึ้นภาษีจะมีผลในวันที่ 1 ก.ย. 62 ในขณะที่จีนทำการตอบโต้โดยการปล่อยค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลง แตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี เพี่อกระตุ้นการส่งออกสินค้าจากจีน และประกาศหยุดการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อีกด้วย
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบในบริเวณอ่าวเม็กซิโกจะกลับมาดำเนินการผลิตเต็มกำลัง หลังปิดดำเนินการจากผลกระทบของพายุเฮอริเคน Barry ในเดือน ก.ค. 62 ประกอบกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบในแหล่ง Permian มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่คาดว่ากำลังการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ระดับร้อยละ 96 โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 2 ส.ค. 62 ปรับเพิ่ม 2.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 439 ล้านบาร์เรล
ปริมาณน้ำมันดิบจากกลุ่มผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับลดลง จากความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปก ประกอบกับมาตรคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อเวเนซุเอลาและอิหร่าน โดยกำลังการผลิตของผู้ผลิตของกลุ่มโอเปกในเดือน ก.ค. 62 ปรับลดลงราว 280,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือน มิ.ย. 62 มาอยู่ที่ระดับ 29.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากอิหร่านในเดือน ก.ค. 62 ปรับลดลงแตะระดับ 1 แสนบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. 61
สถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางคาดยืดเยื้อ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซมากยิ่งขึ้น ล่าสุดอิหร่านยึดเรือขนส่งน้ำมันดิบสัญชาติอิรักบริเวณอ่าวเปอร์เซียในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอิหร่านอ้างว่าเรือดังกล่าวลักลอบขนน้ำมันไปยังบางประเทศในอาหรับ ในขณะที่อังกฤษและสหรัฐฯ จะร่วมมือกันรักษาความปลอดภัยให้กับเรือที่ผ่านบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ
ติดตามสถานการณ์ว่าอังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างไร หลังนายกสหราชอาณาจักรคนใหม่ นายบอริส จอห์นสัน ออกมาแถลงว่าจะออกจากสหภาพยุโรปโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ในวันที่ 31 ต.ค. 62 ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของยุโรป
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/62 ยูโรโซน และดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 – 9 ส.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลด 1.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลด 3.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังความต้องการใช้น้ำมันโลกได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกร้อยละ 10 ของสินค้ามูลค่ารวม 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ ประกอบกับแหล่งผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในลิเบีย El-Sharara กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง หลังผู้ไม่หวังดีสร้างความเสียหายต่อท่อขนส่งน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตก ประกอบกับปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ของสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 6 แท่น สู่ระดับ 770 แท่น นับเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 61
Click Donate Support Web