- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 29 September 2014 22:45
- Hits: 2398
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 22-26 ก.ย. 57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 29 ก.ย. - 3 ต.ค. 57
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 96.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 94.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 92.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 109.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 109.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ :
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เพราะผลสำรวจบ่งชี้การใช้จ่ายส่วนบุคคลที่ลดลงจากสภาพอากาศแปรปรวน เช่น พายุไต้ฝุ่น ฝนตกหนัก รวมถึงผลกระทบทางจิตวิทยาเชิงลบที่ยังคงอยู่จากการปรับขึ้นภาษีบริโภคจาก 5% เป็น 8% ตั้งแต่เดือน เม.ย.57
· นาย Charles Evan ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯสาขาเมืองชิคาโก (Chicago FED) ได้ออกแถลงการณ์ว่า FED ควรจะยึดแผนการยกเลิกการ QE ไว้ตามเดิมหลังจากนาง Janet Yellen ได้ออกแถลงการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ FED จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และยกเลิก QE ที่ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ เดือน ธ.ค. 51 เร็วขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะปรับในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งตัวมากขึ้นจากที่เป็นอยู่
· Reuters รายงานว่าซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 57 ปริมาณ 9.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 9.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 57
· Tokyo Electric Power บริษัทผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าของญี่ปุ่นคาดว่าจะใช้น้ำมันดิบสำหรับการผลิตไฟฟ้าโดยการ Direct Burn ในเดือน ก.ย. 57 ปริมาณ 21,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 50% จากที่เคยประมาณไว้ก่อนหน้าที่ระดับ 42,000 บาร์เรลต่อวัน เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศลดลง
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· การสู้รบในอิรัก และซีเรียรุนแรงขึ้น หลังเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ที่มีกำลังร่วมจากมหาอำนาจตะวันตก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เข้าโจมตีเป้าหมายของกลุ่มรัฐอิสลามในอิรัก ขณะที่กองกำลังเคิร์ดดิสถานต่อต้านกลุ่มรัฐอิสลามด้วยกองกำลังทางบก
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ก.ย. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 358 ล้านบาร์เรล
· กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดสั่งซื้อสินค้าทุน (Capital Goods Orders - ไม่รวมเครื่องบิน) ในเดือน ส.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.6% บ่งชี้ภาคธุรกิจมีแผนการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
· ที่ประชุม G20 แถลงการณ์ว่าจะดำเนินมาตรการทางการคลังที่ยืดหยุ่นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ด้วยการกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานภาคเอกชนโดยตั้งเป็นเพิ่ม GDP รวมกันให้เกิน 2% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน โดยมีปัจจัยบวกล่าสุดต่อตลาดดังนี้ คือ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2/57 เพิ่มขึ้น 4.6% YoY จากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่เพิ่มขึ้น 4.2% YoY ประกอบกับปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามระหว่างสหรัฐฯและกลุ่มพันธมิตร กับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง (IS) ในประเทศซีเรียและอิรักได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นหลังจากอังกฤษส่งเครื่องบินรบเข้าร่วมสงครามโจมตีกลุ่ม IS เป็นครั้งแรกในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยการโจมตีทางอากาศมุ่งเป้าไปยังโรงกลั่นน้ำมันที่ถูกควบคุมโดยกลุ่ม IS เพื่อเป็นการตัดปัจจัยทางการเงินและยุทธปัจจัย และ การประท้วงที่ลิเบียส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบลดลง 25,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 900,000 บาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง นาย Bijan Zangeneh รัฐมนตรีน้ำมันของอิหร่านได้กระตุ้นกลุ่ม OPEC ให้ร่วมมือแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องซึ่งตรงข้ามกับที่นาย Ali al-Naimi รัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย เคยได้แถลงการณ์ว่าจะไม่ปรับลดอัตราการผลิตน้ำมันดิบใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันดิบตกต่ำในขณะนี้ ด้านปัจจัยลบมารจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้แก่ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี ครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆของโลก จากเศรษฐกิจของสหรัฐที่ดีขึ้นต่อเนื่องรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจมีนโยบายเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เร็วขึ้นกว่าเดิม สัปดาห์นี้ทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะแกว่งตัวระหว่าง อยู่ที่ 92.2-99.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 90.8 - 98.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ WTI NYMEX อยู่ที่ 90.6-94.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจากปริมาณส่งออก Gasoline ที่รายงานโดยหน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs) ในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ 4.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่ มี.ค. 57อย่างไรก็ตาม ตลาด Gasoline ในสหรัฐฯ ตึงตัว เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งชะลอการดำเนินการเพื่อซ่อมบำรุง โดยเฉพาะแถบฝั่งตะวันออก (East Coast) ขณะที่อุปสงค์จากแอฟริกาแข็งแกร่ง โดย Reuters รายงานในวันที่ 24 ก.ย. 57 ผู้ค้าในยุโรปจัดหาเรือขนส่งเพื่อส่งออก Gasoline ไปสหรัฐฯ 4 ลำ และไปแอฟริกาตะวันตก 1 ลำและ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillate ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ย. 57 ลดลง 1.18 ล้านบาร์เรล หรือ 9.9% WoW มาอยู่ที่ระดับ 10.79 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 106.5-114 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันเบนซินสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงจาก อุปทานน้ำมันเบนซินในอินเดียยังมีล้นเหลือเพราะความต้องการใช้ลดลงช่วงฤดูฝน โรงกลั่นอินเดียหลายแห่งออกประมูลขาย อาทิ บริษัท Mangalore Refinery and Petrochemicals Ltd. (MRPL) ขายน้ำมัน High-speed Diesel 0.05%S ปริมาณ 447,000 บาร์เรล ส่งมอบช่วงวันที่ 6-8 พ.ย. 57 และบริษัท Essar Oil ออกประมูลขายน้ำมัน Gasoil 0.05%S ปริมาณ 521,500 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 22-26 อย่างไรก็ตาม Platts คาดว่าอุปสงค์น้ำมัน Gasoil 0.001%S ของออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้น หลังจากโรงกลั่นในประเทศจำนวน 4 จาก 8 โรง จะปิดเพื่อซ่อมบำรุงในสัปดาห์นี้ ทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันดิบลดลงกว่าครึ่ง มาอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillate ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ย. 57 ลดลง 0.67 ล้านบาร์เรล หรือ 5.6% WoW มาอยู่ที่ระดับ 10.94 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 106-113.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล