- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 28 September 2014 14:29
- Hits: 2603
ความชัดเจนนโยบายรับซื้อไฟฟ้า ปลดล็อคศักยภาพพลังงานทดแทน
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มอง การเร่งให้ความชัดเจนเรื่องนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนขยายตัวเต็มศักยภาพ และสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว
แม้แผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบัน จะมีความพยายามในการลดสัดส่วนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลง โดยเฉพาะในส่วนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ที่จะมีก๊าซสำรองให้เหลือใช้ได้อีกแค่ประมาณ 10 ปี จึงทำให้ทุกฝ่ายตระหนักดีถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในประเทศขึ้นมา ทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่รูปแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานอื่นที่จะมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ยังประสบปัญหาความลังเลใจในการลงทุนของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของภาคเอกชน เนื่องจากปัญหาความไม่ชัดเจนในการสนับสนุนจากภาครัฐด้านนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า ส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของไทยมีเพียง 7.7% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มในอาเซียนมีสัดส่วนอยู่ที่ 15.3%
ในปัจจุบัน ระบบการซื้อไฟฟ้าโดยภาครัฐแบ่งได้เป็น 2 ระบบด้วยกัน คือ 1) การรับซื้อไฟฟ้าแบบ Adder คือ เป็นเงินสนับสนุนเพื่อจูงใจผู้ประกอบการลงทุนทางด้านพลังงานทดแทนด้วยส่วนที่บวกเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าฐานและ 2) การรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FIT) ซึ่งคำนวนรับซื้อจากต้นทุนจริง คือ การคิดคำนวนผลตอบแทนที่มีการคำนวนต้นทุนด้านต่างๆ เช่น แนวโน้มเทคโนโลยี ค่าวัสดุ ค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าแรง เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ
การรับซื้อทั้ง 2 ประเภทนั้น มีข้อดีและข้อด้อยที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร โดยการรับซื้อแบบ Adder จะเพิ่มราคาให้ผู้ผลิตไฟฟ้า สร้างรายได้เพิ่มที่แน่นอนตามระยะเวลาที่สนับสนุน จึงมักจะจูงใจผู้ประกอบการภาคเอกชนมากกว่าจากระยะเวลาคืนทุนเร็วภายในเวลา 7-10 ปีในช่วงที่ให้การสนับสนุน แต่อาจทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนในช่วงที่ให้การสนับสนุนสูงเกินไปและไม่สอดคล้องกับภาวะต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการ แต่ทว่าเมื่อผ่านช่วงระยะเวลาสนับสนุนไปแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องขายไฟฟ้าในราคาขายส่ง + ต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับภาวะราคาในตลาดและต้นทุนของการผลิตไฟฟ้ารวมที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเลย ทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการบางรายอาจเลิกทำกิจการเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสนับสนุนให้ Adder
ในขณะที่ การรับซื้อไฟฟ้าแบบ FIT จะสะท้อนต้นทุนของผู้ผลิตได้ดีกว่า เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน มักมีการเคลื่อนไหวเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละประเภทวัตถุดิบ อาทิ ราคาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ได้ผูกพันกับราคาค่าไฟฟ้าฐานซึ่งผูกพันกับราคาก๊าซธรรมชาติ แต่ราคาแผงเซลแสงอาทิตย์ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี หรือปัจจัยอุปกรณ์ในการผลิตอื่น และราคาเทคโนโลยีการผลิตนั้น มีแนวโน้มราคาต้นทุนที่ถูกลงจากนวัตกรรมใหม่ๆที่มีการพัฒนาอยู่ตลอด อีกทั้งยังทำให้รัฐสามารถมั่นใจว่าผู้ประกอบการจะผลิตไฟฟ้าให้กับภาครัฐเป็นระยะเวลานานถึง 25 ปีตามสัญญา
อย่างไรก็ตาม แม้ผลการวิเคราะห์จากหลากหลายองค์กรใกล้เคียงกันว่า การรับซื้อไฟฟ้าแบบ FIT จะทำให้ผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ลดเหลือประมาณ 8-12% เนื่องจากเป็นการสนับสนุนที่ลดหย่อนไปตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง เทียบกับผลตอบแทนที่ 14-25% ภายใต้การรับซื้อไฟฟ้าแบบ Adder ที่เป็นการสนับสนุนแบบคงที่ แต่ระดับของผลตอบแทนดังกล่าว ยังถือว่าอยู่ในอัตราที่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับของโครงการโรงไฟฟ้าทั่วไปที่ 7-12% และเมื่อรวมถึงความเสี่ยงที่มีน้อยจากที่ได้ภาครัฐเป็นคู่สัญญาและระยะเวลารับซื้อยาวนานถึง 25 ปี (เทียบกับ 7-10 ปีในการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Adder) จึงทำให้การรับซื้อไฟฟ้าแบบ FIT น่าจะเป็นทิศทางการสนับสนุนที่เหมาะสมในการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการพลังงานทางเลือกขนาดเล็กที่ดำเนินการโดยชุมชนที่รัฐส่งเสริม อาจไม่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้การรับซื้อไฟฟ้าแบบ FIT โดยเฉพาะหากต้องเผชิญกับภาวะความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ดังนั้นรัฐยังอาจต้องพิจารณาช่วยเหลือด้านต่างๆ รวมถึงการให้ Adder ที่มีข้อกำหนดในแต่ประเภทให้ชัดเจน
จากนี้ไป การผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ประกอบการยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก และภาครัฐก็มีโอกาสสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้ หากเร่งหาระบบราคารับซื้อไฟฟ้าที่ชัดเจนและเหมาะสมร่วมกัน อันจะส่งผลดีให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาและเดินหน้าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืนในที่สุด
|