WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ความชัดเจนนโยบายรับซื้อไฟฟ้า ปลดล็อคศักยภาพพลังงานทดแทน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มอง การเร่งให้ความชัดเจนเรื่องนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนขยายตัวเต็มศักยภาพ และสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว

แม้แผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบัน จะมีความพยายามในการลดสัดส่วนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลง โดยเฉพาะในส่วนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ที่จะมีก๊าซสำรองให้เหลือใช้ได้อีกแค่ประมาณ 10 ปี จึงทำให้ทุกฝ่ายตระหนักดีถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในประเทศขึ้นมา ทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่รูปแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานอื่นที่จะมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ยังประสบปัญหาความลังเลใจในการลงทุนของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของภาคเอกชน เนื่องจากปัญหาความไม่ชัดเจนในการสนับสนุนจากภาครัฐด้านนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า ส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของไทยมีเพียง 7.7% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มในอาเซียนมีสัดส่วนอยู่ที่ 15.3%

ในปัจจุบัน ระบบการซื้อไฟฟ้าโดยภาครัฐแบ่งได้เป็น 2 ระบบด้วยกัน คือ 1) การรับซื้อไฟฟ้าแบบ Adder คือ เป็นเงินสนับสนุนเพื่อจูงใจผู้ประกอบการลงทุนทางด้านพลังงานทดแทนด้วยส่วนที่บวกเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าฐานและ 2) การรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FIT) ซึ่งคำนวนรับซื้อจากต้นทุนจริง คือ การคิดคำนวนผลตอบแทนที่มีการคำนวนต้นทุนด้านต่างๆ เช่น แนวโน้มเทคโนโลยี ค่าวัสดุ ค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าแรง เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ

การรับซื้อทั้ง 2 ประเภทนั้น มีข้อดีและข้อด้อยที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร โดยการรับซื้อแบบ Adder จะเพิ่มราคาให้ผู้ผลิตไฟฟ้า สร้างรายได้เพิ่มที่แน่นอนตามระยะเวลาที่สนับสนุน จึงมักจะจูงใจผู้ประกอบการภาคเอกชนมากกว่าจากระยะเวลาคืนทุนเร็วภายในเวลา 7-10 ปีในช่วงที่ให้การสนับสนุน แต่อาจทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนในช่วงที่ให้การสนับสนุนสูงเกินไปและไม่สอดคล้องกับภาวะต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการ แต่ทว่าเมื่อผ่านช่วงระยะเวลาสนับสนุนไปแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องขายไฟฟ้าในราคาขายส่ง + ต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับภาวะราคาในตลาดและต้นทุนของการผลิตไฟฟ้ารวมที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเลย ทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการบางรายอาจเลิกทำกิจการเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสนับสนุนให้ Adder

ในขณะที่ การรับซื้อไฟฟ้าแบบ FIT จะสะท้อนต้นทุนของผู้ผลิตได้ดีกว่า เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน มักมีการเคลื่อนไหวเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละประเภทวัตถุดิบ อาทิ ราคาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ได้ผูกพันกับราคาค่าไฟฟ้าฐานซึ่งผูกพันกับราคาก๊าซธรรมชาติ แต่ราคาแผงเซลแสงอาทิตย์ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี หรือปัจจัยอุปกรณ์ในการผลิตอื่น และราคาเทคโนโลยีการผลิตนั้น มีแนวโน้มราคาต้นทุนที่ถูกลงจากนวัตกรรมใหม่ๆที่มีการพัฒนาอยู่ตลอด อีกทั้งยังทำให้รัฐสามารถมั่นใจว่าผู้ประกอบการจะผลิตไฟฟ้าให้กับภาครัฐเป็นระยะเวลานานถึง 25 ปีตามสัญญา

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการวิเคราะห์จากหลากหลายองค์กรใกล้เคียงกันว่า การรับซื้อไฟฟ้าแบบ FIT จะทำให้ผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ลดเหลือประมาณ 8-12% เนื่องจากเป็นการสนับสนุนที่ลดหย่อนไปตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง เทียบกับผลตอบแทนที่ 14-25% ภายใต้การรับซื้อไฟฟ้าแบบ Adder ที่เป็นการสนับสนุนแบบคงที่ แต่ระดับของผลตอบแทนดังกล่าว ยังถือว่าอยู่ในอัตราที่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับของโครงการโรงไฟฟ้าทั่วไปที่ 7-12% และเมื่อรวมถึงความเสี่ยงที่มีน้อยจากที่ได้ภาครัฐเป็นคู่สัญญาและระยะเวลารับซื้อยาวนานถึง 25 ปี (เทียบกับ 7-10 ปีในการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Adder) จึงทำให้การรับซื้อไฟฟ้าแบบ FIT น่าจะเป็นทิศทางการสนับสนุนที่เหมาะสมในการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการพลังงานทางเลือกขนาดเล็กที่ดำเนินการโดยชุมชนที่รัฐส่งเสริม อาจไม่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้การรับซื้อไฟฟ้าแบบ FIT โดยเฉพาะหากต้องเผชิญกับภาวะความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ดังนั้นรัฐยังอาจต้องพิจารณาช่วยเหลือด้านต่างๆ รวมถึงการให้ Adder ที่มีข้อกำหนดในแต่ประเภทให้ชัดเจน

จากนี้ไป การผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ประกอบการยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก และภาครัฐก็มีโอกาสสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้ หากเร่งหาระบบราคารับซื้อไฟฟ้าที่ชัดเจนและเหมาะสมร่วมกัน อันจะส่งผลดีให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาและเดินหน้าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืนในที่สุด 

This document is issued by TMB Analytics, a division of TMB Bank PCL. All analyses are based on information available to the public. Although the information contained herein is believed to be reliable, TMB makes no guarantee to its accuracy and completeness. TMB may have issued, and may in the future issue, other reports that are inconsistent with, and reach different conclusions from, the information presented in this report. Opinions or predictions expressed herein reflect the authors’ views, not that of TMB, as of date of the analysis and are subject to change without notice. TMB shall not be responsible for the use of contents and its implication.

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!