- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 25 March 2019 22:58
- Hits: 2219
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังอุปทานน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2562
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 56 - 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 64 - 69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 – 29 มี.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากแรงหนุนของอุปทานจากกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน หลังคาดว่าสหรัฐฯ จะขยายช่วงเวลาการผ่อนผันมาตราการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำมันดิบปรับสูงมากเกิน ประกอบกับ สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มยืดเยื้อ ส่งผลให้นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันดิบโลก
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- อุปทานน้ำมันดิบโลกคาดปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ซาอุดิอาระเบียประกาศที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงจากกำลังการผลิตในเดือน ก.พ. 62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 10.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยคาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียในเดือน มี.ค. และเม.ย. 62 นี้ จะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตที่ต่ำกว่าปริมาณที่ได้ตกลงไว้ในการประชุมกลุ่มโอเปกครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่รัสเซียมีแนวโน้มที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงอีกราว 88,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อให้ปริมาณการผลิตของรัสเซียเป็นไปตามข้อตกลงของกลุ่มโอเปก
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงกลั่นสหรัฐฯ บางส่วนเริ่มกลับมาดำเนินการผลิต หลังเสร็จสิ้นช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี ประกอบกับ สหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ โดยล่าสุด ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากสหรัฐฯ ปรับเพิ่มสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.39 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ วันที่ 15 มี.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 440 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมาราว 9.6 ล้านบาร์เรล
- อุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านอาจไม่ปรับลดลงมากอย่างที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ เนื่องจาก สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะขยายช่วงเวลาการผ่อนผันมาตราการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบอิหร่าน ซึ่งจะสิ้นสุดในช่วงต้นเดือน พ.ค. 62 เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มมากเกินไป โดยสหรัฐฯ อาจให้ผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของอิหร่าน เช่น จีนและอินเดีย ยังคงสามารถซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านได้ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบจากอิหร่านที่แต่ละประเทศสามารถนำเข้าได้อาจน้อยกว่าปริมาณในการผ่อนปรนครั้งที่ผ่านมา
- ติดตามสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีนเลื่อนกำหนดการพบกันในวันที่ 27 มี.ค. 62 นี้ออกไป แต่จะมีการเจรจาระหว่างนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจีน และตัวแทนจากสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้าแทน โดยล่าสุด นายทรัมป์เผยว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจาก สหรัฐฯ ต้องการความมั่นใจก่อนว่าจีนจะสามารถทำตามข้อตกลงของสองประเทศได้ ในขณะที่จีนได้ทำการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่ทำไว้กับสหรัฐฯ เนื่องจาก จีนต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอย่างถาวร
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของยูโรโซน และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน ดัชนีดุลการค้าสหรัฐฯ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ และจำนวนที่อยู่อาศัยที่กำลังก่อสร้างสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 - 22 มี.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 67.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบีย ซึ่งปรับลดลงจากเดือน ธ.ค. 61 ที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 7.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ม.ค. 62 ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หลังดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของจีนในช่วงสองเดือนแรกของปี 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5.3 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 17 ปี