- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 12 March 2019 18:54
- Hits: 3815
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังซาอุดิอาระเบียปรับลดกำลังการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบ
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากซาอุดิอาระเบียยังคงยืนยันที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ สืบเนื่องจากที่กลุ่มโอเปกพลัสได้ตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 62 โดยจะมีการประชุมกลุ่มโอเปกอีกครั้งในเดือน เม.ย. 62
+ ซาอุดิอาระเบียคาดการณ์ว่าจะปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบลงในระดับที่ต่ำกว่า 7 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. 62 ซึ่งปรับลดลงจากระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ม.ค. 62
+ นอกจากนี้ ในเดือน ก.พ. 62 ที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียได้ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงมาอยู่ที่ระดับ 10.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับลดลงจากเดือน ม.ค. 62 ที่ระดับ 10.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปรับลดลงต่ำกว่าระดับที่ได้มีการตกลงกับกลุ่มโอเปกพลัสไว้ที่ระดับ 10.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันหลังตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ รวมทั้งนักลงทุนกังวลต่อเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงในเอเชียและยุโรป
- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 15.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 61 ไปอยู่ที่ระดับ 19.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 67
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีการคาดการณ์อุปทานของน้ำมันเบนซินตึงตัวมากขึ้น หลังโรงกลั่นในประเทศจีนเตรียมปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล นอกจากนี้มีปัจจัยหนุนจากอุปสงค์น้ำมันเบนซินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเทศอินโดนีเซีย
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากประเทศจีนมีการส่งออกน้ำมันดีเซลมากขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ปรับตัวลดลงหลังมีการส่งออกจากเอเชียไปยังฝั่งตะวันตก
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 54-59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโอเปกและพันธมิตรร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด กำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกปรับลดลงมาอยู่ที่ 30.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 ประกอบกับ รัสเซียเตรียมที่จะปรับลดกำลังการผลิตในเดือน มี.ค. 62 ลงราว 228,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตในเดือน ต.ค. 61
จับตาผลสรุปของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังการเจรจาระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาดำเนินไปด้วยดี โดยทั้งสองประเทศจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 มี.ค. นี้ ซึ่งหากสงครามการค้ายุติลง เศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นได้
ติดตามการตัดสินใจของโอเปกและพันธมิตรเกี่ยวกับทิศทางในการปรับลดกำลังการผลิต หลังคาดว่าจะไม่มีการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมเดือน เม.ย. 62 อย่างไรก็ตาม คาดว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะมีข้อสรุปในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน มิ.ย. 62
Click Donate Support Web