- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 11 March 2019 18:46
- Hits: 2785
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวน จากความไม่แน่นอนของผลสรุปสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2562
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 54 - 59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 63 - 68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (11 – 15 มี.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวน หลังได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ประกอบกับ สหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการกลั่น หลังโรงกลั่นกลับมาจากช่วงปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล นอกจากนี้ ทิศทางบวกของการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ คาดจะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบอาจถูกกดดัน จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังสหรัฐฯ ยังคงกำลังการผลิตอยู่ในระดับสูง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด กำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 30.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ รัสเซียเตรียมที่จะปรับลดกำลังการผลิตในเดือนมี.ค. 62 ลงราว 228,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตในเดือน ต.ค. 61 เพื่อที่จะลดกำลังการผลิตให้ได้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประชุมโอเปกที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดัน หลังลิเบียประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara ซึ่งมีกำลังการผลิตราว 315,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้แหล่งผลิตดังกล่าวสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง หลังถูกปิดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 61 จากสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ
อุปสงค์น้ำมันดิบคาดได้รับแรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง หลังดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ (ISM Manufacturing Activity Index) ประจำเดือน ก.พ. 62 ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 59 ประกอบกับรัฐบาลจีนประกาศปรับลดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนลง อยู่ที่ร้อยละ 6.0-6.5 ซึ่งเป็นระดับที่ชะลอตัวลงที่สุดในรอบ 30 ปี
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ ยังคงระดับการผลิตอยู่ในระดับสูงสุดที่ 12.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบนำเข้าสุทธิของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กำลังการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นบางส่วนเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง จึงมีความต้องการน้ำมันดิบสำหรับการกลั่นมากขึ้น โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 1 มี.ค. 62 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 7.1 ล้านบาร์เรล และแตะระดับ 452.9 ล้านบาร์เรล
จับตาผลสรุปของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังการเจรจาระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาดำเนินไปด้วยดี และมีแนวโน้มที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ โดยทั้งสองประเทศจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 มี.ค. นี้ ซึ่งหากสงครามการค้ายุติลง เศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นได้
ติดตามผลการตัดสินใจของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรถึงทิศทางในการปรับลดกำลังการผลิต หลังกลุ่มผู้ผลิตดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมในวันที่ 17-18 เม.ย. 62 นี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากลุ่มผู้ผลิตอาจมีการตกลงกันในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 25-26 มิ.ย. 62 แทน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกจีน ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 - 8 มี.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากแรงหนุนของการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่ช่วยให้อุปทานน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีทิศทางที่ดี และอาจนำมาสู่การยุติปัญหาสงครามการค้าได้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ รวมถึง ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยืนอยู่ที่ระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
Click Donate Support Web