- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 11 February 2019 20:14
- Hits: 5031
การเจรจาการค้ารอบใหม่ หนุนราคาน้ำมันดิบเบรนท์
+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รอบใหม่ โดยทำเนียบขาวแถลงการณ์ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะจัดการเจรจาการค้ารอบใหม่ที่กรุงปักกิ่ง ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ หากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าก่อนวันที่ 1 มี.ค. 62 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดที่มาตรการภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยสหรัฐฯ ก็จะเดินหน้าเพิ่มการเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากร้อยละ 10 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 25
+ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบ ยังได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปก โดยผลการสำรวจรอยเตอร์พบว่า การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในเดือน ม.ค. ปรับตัวลดลง 890,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 30.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+ แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในลิเบีย ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยังคงปิดดำเนินการเนื่องจากบางพื้นที่ยังคงถูกควบคุมโดยกลุ่มกบฏติดอาวุธ
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสองครั้งในรอบสามสัปดาห์ โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.พ. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 แท่น มาอยู่ที่ 854 แท่น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่อุปสงค์ยังคงซบเซาในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปทานที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาค
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 59-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
การตกลงปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบตึงตัวขึ้น โดยล่าสุด ซาอุดิอาระเบียจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลงเพิ่มเติมอีกราว 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับการผลิตในเดือนม.ค. 62 สู่ระดับ 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับลดมากกว่าที่ได้ตกลงไว้
จับตาการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาโดยสหรัฐฯ เพื่อกดดันให้รัฐบาลมาดูโรออกจากตำแหน่ง โดยการคว่ำบาตรนี้อาจส่งผลให้เวเนซุเอลาต้องเปลี่ยนทิศทางการส่งออกน้ำมันดิบราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน ไปยังประเทศอื่นๆ แทนสหรัฐฯ
จับตาความคืบหน้าการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนก่อนถึงเส้นตายในเดือน มี.ค. 62 ซึ่งหากสหรัฐฯ และจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนกำหนดดังกล่าว จะส่งผลให้สหรัฐฯ อาจเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 และคาดว่าจีนจะทำการตอบโต้คืนโดยการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน
Click Donate Support Web