- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 28 January 2019 18:55
- Hits: 2548
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ ปรับเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่ออุปทานของเวเนซุเอลาที่จะหายไป
+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดกังวลต่อปริมาณอุปทานน้ำมันดิบที่จะปรับตัวลดลง หลังสหรัฐฯ ออกมาขู่จะคว่ำบาตรเวเนซุเอลาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 62 โดยสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนผู้นำฝ่ายค้านนายฮวน กุยโด ส่งผลให้ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาได้ตัดสัมพันธ์ทางการฑูตกับสหรัฐฯ จากการคว่ำบาตรครั้งนี้ จะส่งผลให้การส่งออกของเวเนซุเอลาในปีนี้ปรับตัวลดลง 300,000-500,000 บาร์เรลต่อวัน
- กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นสามารถชดเชยอุปทานของเวเนซุเอลาที่หายไปได้ในระยะสั้น Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 25 ม.ค. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 10 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 862 แท่น
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 8 ม.ค. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 42,000 บาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ได้ปรับลดกำลังการผลิตลง 174,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 2.7 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสหรัฐฯ และสิงคโปร์ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่อุปสงค์ในภูมิภาคยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากเริ่มมีอุปสงค์น้ำมันดีเซลจากอินเดียเข้ามา อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับต่ำ
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 59-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
อุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังยุโรปเตรียมประกาศใช้ระบบการชำระเงินสำหรับซื้อขายน้ำมันดิบกับอิหร่านผ่านสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากอิหร่านอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น
อุปสงค์น้ำมันดิบคาดว่าจะถูกกดดันจากสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซาและมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากจีดีพีของจีนในปี 2561 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.6 นับเป็นการขยายตัวที่น้อยที่สุดในรอบ 28 ปี ในขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดจีดีพีโลกในปี 2562 จะเติบโตเพียงร้อยละ 3.5 ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ในเดือน ต.ค. 61 ที่ร้อยละ 0.2
ติดตามสถานการณ์การพิจารณาคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวเนซุเอลา และตลาดน้ำมันดิบโลก เนื่องจาก สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของเวเนซุเอลา
Click Donate Support Web