- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 25 January 2019 19:54
- Hits: 9982
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มจากมาตราการคว่ำบาตรเวเนซุเอลา
+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ ส่งสัญญาณออกมาตรการคว่ำบาตรต่อการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลา เนื่องจากต้องการให้รายได้การค้าขายน้ำมันดิบตกเป็นของผู้นำฝ่ายค้านแทนนายนิโคลัส มาดูโร ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โดยมาตราการคว่ำบาตรนี้ อาจส่งผลให้โรงกลั่นสหรัฐฯ จำเป็นต้องหาแหล่งอุปทานอื่นในราคาที่สูงขึ้นมาใช้ในการกลั่นเป็นน้ำมันดิบสำเร็จรูปแทนน้ำมันดิบหนักจากเวเนซุเอลา
+ ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากอิหร่านในเดือน ธ.ค. 61 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากผลของมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ม.ค. 61 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 42,000 บาร์เรล ในขณะที่ อัตราการกลั่นของโรงกลั่นสหรัฐฯ ปรับลดลงก่อนเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงมาอยู่ที่ร้อยละ 92
- น้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8 สัปดาห์ติดต่อกัน แตะระดับสูงสุดที่ 259.7 ล้านบาร์เรล หลังอุปสงค์น้ำมันเบนซินในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานยังคงล้นตลาด ประกอบกับปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์จากอินเดียและเกาหลีใต้
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจาก อุปทานในภูมิภาคอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงหนุนจากการส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังนอกภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 59-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
อุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังยุโรปเตรียมประกาศใช้ระบบการชำระเงินสำหรับซื้อขายน้ำมันดิบกับอิหร่านผ่านสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากอิหร่านอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น
อุปสงค์น้ำมันดิบคาดว่าจะถูกกดดันจากสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซาและมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากจีดีพีของจีนในปี 2561 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.6 นับเป็นการขยายตัวที่น้อยที่สุดในรอบ 28 ปี ในขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดจีดีพีโลกในปี 2562 จะเติบโตเพียงร้อยละ 3.5 ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ในเดือน ต.ค. 61 ที่ร้อยละ 0.2
ติดตามสถานการณ์การพิจารณาคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวเนซุเอลา และตลาดน้ำมันดิบโลก เนื่องจาก สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของเวเนซุเอลา
Click Donate Support Web