- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 16 January 2019 18:52
- Hits: 1800
เบรนท์ และเวสต์เท็กซัสปิดบวกกว่าร้อยละ 3 หลังจีนส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจ
+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวขึ้นกว่าร้อยละ 3 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน หลังผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว
+ คณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) เผยว่า เศรษฐกิจจีนจะมีแนวโน้มสดใสในไตรมาส 1 ของปี 2562 ส่งผลให้ตลาดคาดว่าจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากตัวเลขการปล่อยสินเชื่อ (Credit) ในเดือน ธ.ค. 2561 ค่อนข้างอ่อนแอ แม้จะมีการปล่อยมาตรการกระตุ้นไปก่อนหน้าแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ตัวเลขการส่งออกในเดือนดังกล่าวหดตัวถึงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0
- หลังตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ (API) เผยตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงต่ำกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดีเซลและเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
- ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการที่รัฐสภาอังกฤษได้คว่ำร่างข้อตกลง BREXIT ของนางเทเรซา เมย์ ด้วยคะแนนเสียง 432-202 ส่งผลให้อังกฤษอาจต้องเผชิญกับการถอนตัวจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีเงื่อนไข (Disorderly exit) หรืออาจยกเลิกการถอนตัวจากสหภาพยุโรป หากเมย์ไม่สามารถนำเสนอแผน BREXIT ฉบับใหม่ได้ภายในเวลาที่กำหนด
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยถูกกดดันจากปริมาณอุปทานในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ อุปสงค์จากประเทศเกาหลีใต้ยังมีแนวโน้มอ่อนแอ
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกของจีนที่คาดว่าจะน้อยกว่าการคาดการณ์ของตลาด
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 57-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพื่อหาข้อสรุปของข้อพิพาทการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ม.ค. 62 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ส่งสัญญาณดีต่อตลาด เนื่องจาก นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับลดลง โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียในเดือน ก.พ. 62 จะอยู่ที่ระดับ 7.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับเพิ่มขึ้น จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง สวนทางกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ซึ่งกลับมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในประวัติการณ์ หรือ 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
Click Donate Support Web