- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 15 January 2019 19:12
- Hits: 1817
ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากความกังวลต่อตัวเลขการนำเข้าและส่งออกจีนลด
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับลดลงต่ออีกมากกว่า 2% จากตัวเลขการนำเข้าและส่งออกของจีนที่ปรับลดลง โดยตัวเลขการส่งออกจีนลดลงมากที่สุดในรอบ 2 ปีในเดือน ธ.ค ร้อยละ 4.4 ขณะที่การนำเข้าประสบภาวะหดตัว โดยลดลงร้อยละ 7.6 ซึ่งลดลงมากสุดนับตั้งแต่ ก.ค. 59 ส่งผลให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงซึ่งจะกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันลดลง
- นาย Mohammad Barkindo เลขาธิการกลุ่มโอเปก แสดงความกังวลว่า การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายหลักของโลก โดยการซื้อน้ำมันของจีนเทียบเท่ากับสัดส่วน 18.6% ของการนำเข้าน้ำมันดิบทั่วโลกในปี 2560 ขณะที่อินเดียมีแนวโน้มเป็นประเทศที่จะแซงหน้าจีนในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลกในปี 2567
+ นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย กล่าวว่า ยังไม่มีความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและไม่คิดว่าโอเปกต้องมีความเร่งด่วนในการจัดประชุมเร็วๆนี้ เพราะเชื่อมั่นว่า โอเปกและประเทศพันธมิตรจะทำตามคำมั่นสัญญาในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อช่วยสนับสนุนตลาดให้เข้าสู่สมดุล
+ โอเปกได้ออกมายืนยันเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดว่าผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรจะปรับลดกำลังการผลิตในเดือน ม.ค. 62 นี้อีก 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันเพื่อสร้างความสมดุลให้ตลาด
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานน้ำมันเบนซินยังคงล้นตลาด โดยเฉพาะจากการส่งออกน้ำมันของประเทศจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมาร้อยละ 12.4
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกน้ำมันดีเซลของประเทศจีนและเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 57-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพื่อหาข้อสรุปของข้อพิพาทการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ม.ค. 62 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ส่งสัญญาณดีต่อตลาด เนื่องจาก นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับลดลง โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียในเดือน ก.พ. 62 จะอยู่ที่ระดับ 7.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับเพิ่มขึ้น จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง สวนทางกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ซึ่งกลับมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในประวัติการณ์ หรือ 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
Click Donate Support Web