- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 07 January 2019 17:15
- Hits: 8122
ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะถูกกดดัน จากภาวะอุปทานล้นตลาด
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 7 มกราคม 2561
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 45 - 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 55 - 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (7 - 11 ม.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะยังคงถูกกดดัน จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียที่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปลายปี 61 ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันคาดว่าจะถูกกดดันจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังซาอุดิอาระเบียเริ่มลดการส่งออกเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดน้ำมันดิบ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งในช่วงท้ายของปีได้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกได้ตกลงที่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับปริมาณการผลิตจากอิหร่านที่คาดจะขาดหายไปหลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร อย่างไรก็ตาม รัสเซียมีแนวโน้มปรับลดกำลังการผลิต หลังตกลงกับผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่จะปรับลดปริมาณการผลิตราว 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในครึ่งแรกของปี 2562
จับตาเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ของเอเชียอย่างจีนอ่อนแอลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ Purchasing Manager Index (PMI) ของจีนในเดือนธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 49.4 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50.0 ซึ่งดัชนีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 59 หรือคิดเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ในขณะเดียวกัน ตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนก็ไม่น่าพึงพอใจ หลังดัชนี PMI ของยูโรโซนปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 51.4 ในเดือน ธ.ค. 61 นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 59 นอกจากนี้ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงทางด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการปิดดำเนินงานของรัฐบาลสหรัฐฯ
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลง สะท้อนให้เห็นจากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นที่เริ่มปรับตัวลดลง โดยในสัปดาห์ล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 7,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 441.4 ล้านบาร์เรล
ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังประเทศรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียยืนอยู่ที่ 7.253 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนธ.ค. 61 ซึ่งปรับตัวลดลงจากในเดือนพ.ย. ที่ส่งออกอยู่ที่ 7.717 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณน้ำมันดิบที่ส่งออกจากซาอุฯ มายังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจาก 833,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย. 61 สู่ระดับ 355,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ธ.ค. 61 ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากซาอุฯ มายังจีนปรับตัวลดลงจาก 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 1.387 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ธ.ค. 61
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ จีดีพี Q4/18 สหรัฐฯ อัตราการว่างงานยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (31 ธ.ค. 61 – 4 ม.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 2.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 4.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับ รัสเซียยืนยันจะลดกำลังการผลิตลงราว 3-5 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 นอกจากนี้ ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกพร้อมที่จะจัดการประชุมนอกรอบ หากการปรับลดการผลิตในครั้งนี้ไม่สามารถสร้างสมดุลในตลาดน้ำมันดิบได้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดัน หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ และรัสเซียยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
Click Donate Support Web