- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 27 December 2018 19:49
- Hits: 8702
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2562 ถูกกดดัน ท่ามกลางความเสี่ยงจากสภาวะอุปทานล้นตลาด
วันที่ 27 ธันวาคม 2561: สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2561 และคาดการณ์สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2562
Crude Oil Prices Movement
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2561
ประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2561 อยู่ที่ราว 69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยในปี 2560 ที่ 53.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบแกว่งตัวขาขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีและพุ่งขึ้นเหนือระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นเดือนต.ค. 61 หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบขยายตัวกว่า 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 99.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สำนักงานพลังงานสากล - IEA เดือน ธ.ค. 61) ตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวโดยเฉพาะในช่วงต้นปี ประกอบกับ อุปทานยังเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าอุปสงค์ เนื่องจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังคงปรับลดปริมาณการผลิตลงต่อเนื่องจากปี 2560 ขณะเดียวกัน ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านปรับตัวลดลง หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน ส่งผลให้นานาประเทศปรับลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน รวมถึง ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากเวเนซุเอลายังคงเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบได้ลดลง
หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเริ่มคาดการณ์ว่าตลาดจะเผชิญกับภาวะอุปทานขาดดุลอย่างรุนแรงหรือไม่ ราคาน้ำมันดิบจะกลับไปแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ได้อีกครั้งหรือไม่ แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายก็เกิดขึ้น ในช่วงไตรมาส 4/2561 ราคาน้ำมันเริ่มกลับทิศทาง กลับมาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯ กดดันให้ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอลา แต่อุปทานน้ำมันดิบของอิหร่านก็ไม่ได้ปรับลดลงไปมากตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากสหรัฐฯ ออกมาประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้แก่จีน อินเดีย กรีซ อิตาลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ตุรกี และเกาหลีใต้ ยังสามารถนำเข้าน้ำมันดิบได้ในช่วง 180 วันแรกหลังการคว่ำบาตร
ประกอบกับ ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ ก็ปรับเพิ่มกำลังการผลิตอย่างรวดเร็ว มาแตะระดับสูงสุดในเป็นประวัติการณ์ที่ 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย. 61 จากระดับในช่วงต้นปีที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ตลาดน้ำมันดิบอยู่ในภาวะล้นตลาดอีกครั้ง นอกจากนี้ อุปสงค์ก็เติบโตในอัตราที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวลง จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่คลี่คลายแม้ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้แล้วในบางส่วน รวมถึง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเจรจางบประมาณ ส่งผลให้นักลงทุนเทขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงและหันไปถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัยแทน สถานการณ์อุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด ทำให้ผู้ผลิตทั้งกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกมีความจำเป็นต้องประกาศลดกำลังการผลิตรวมกันราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 61 จากระดับการผลิตในเดือน ต.ค. 61 ที่จะบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 62 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อพยุงให้ราคาน้ำมันดิบไม่ปรับลดลงไปมากกว่านี้
ภาวะตลาดน้ำมันดิบและคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2562
ในปี 2562 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับลดลงจากปี 2561 โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 55 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดเผชิญกับความเสี่ยงของอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มล้นตลาด จากปริมาณการผลิตของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องราว 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาเฉลี่ยที่ 12.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และทำให้สหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้ารัสเซีย และมีโครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบกว่า 4 โครงการที่จะนำน้ำมันดิบออกจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Permian ไปยังอ่าวเม็กซิโก (Gulf of Mexico) ซึ่งเป็นท่าส่งออกน้ำมันดิบหลักของประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ประกอบกับ อิหร่านมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันดิบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังได้รับการผ่อนผันจากสหรัฐฯ ให้สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้จนถึงต้นเดือนพ.ค. 62 อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดหวังว่าข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะพยุงให้ภาวะอุปทานล้นตลาดคลี่คลายลงบ้าง
ในขณะที่ ความต้องการใช้น้ำมันโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) รวมถึง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้งในปี 2562 ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนของทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัจจัยทั้งหมดนี้อาจทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราที่ช้ากว่าคาดการณ์และส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน และนี่อาจทำให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกขยายตัวน้อยกว่าการคาดการณ์ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกจะขยายตัวราว 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน