- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 13 December 2018 20:00
- Hits: 4802
รมว.พลังงาน เผย PTTEP ชนะประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ
ครม. มีมติอนุมัติ รายชื่อผู้ชนะการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 และ G2/61 (แปลงเอราวัณและแปลงบงกช)
ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย จังหวัดหนองคาย การประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 50/2561 ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แปลงเอราวัณ) และ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/61 (แปลงบงกช)
• มติการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 50/2561
1. อนุมัติให้
1.1 บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็น ผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แปลงเอราวัณ)
1.2 บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัดเป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61 (แปลงบงกช)
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต่อไป เมื่อสัญญาได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว
3. เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอว่า การให้สิทธิในครั้งนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อกำหนดในเอกสารเชิญชวนให้ยื่นขอ (IFP) ที่ต้องการให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุนเพื่อตอบสนองความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว
• ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ชนะการประมูลภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
• การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ กระทรวงพลังงานพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้ประกาศไว้ในเอกสารเชิญชวนให้ยื่นขอสิทธิ ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 จากนั้นได้ให้เวลาบริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูลได้เข้าศึกษาข้อมูล จัดทำเอกสารการประมูล และเปิดให้ยื่นซองประมูลในวันที่ 25 กันยายน 2561 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้
• หลักเกณฑ์การพิจารณา ในข้อเสนอหลักประกอบด้วย
- 1.ราคาก๊าซธรรมชาติตลอดอายุสัญญาตามสูตรราคาที่กำหนดในเอกสารเชิญชวน
- 2.ส่วนแบ่งกำไรของผู้รับสัญญา
- 3.โบนัสและผลประโยชน์พิเศษ
- 4.สัดส่วนการจ้างพนักงานไทย
• เมื่อถึงกำหนดยื่นเอกสารข้อเสนอ วันที่ 25 กันยายน 2561 ได้มีผู้ยื่นคำขอจำนวน 2 คำขอสำหรับแปลง G1/61 (แปลงเอราวัณ) ประกอบด้วย
- คำขอที่ 1 เป็นของ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (สัดส่วนร้อยละ 60 และเป็นผู้ดำเนินงาน) และบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด (ร้อยละ 40)
- และคำขอที่ 2 เป็นของ บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. (สัดส่วนร้อยละ 74 และเป็นผู้ดำเนินงาน) และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด (ร้อยละ 26)
และคำขอจำนวน 2 คำขอสำหรับแปลง G2/61 (แปลงบงกช) ประกอบด้วย
- คำขอที่ 1 เป็นของ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ร้อยละ 100)
- และ คำขอที่ 2 เป็นของ บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. (ร้อยละ 74 และเป็นผู้ดำเนินงาน) และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด (ร้อยละ 26)
• กระทรวงพลังงานโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียมได้พิจารณาแล้วว่า ผู้ยื่นคำขอทั้งหมดผ่านคุณสมบัติตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ทั้งนี้ ข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และข้อเสนอด้านเทคนิค มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดปริมาณการผลิตก๊าซขั้นต่ำ มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ และสมมติฐานที่ใช้สมเหตุสมผลและปฏิบัติได้จริง และผู้ชนะได้ยื่นข้อเสนอในแปลง G1/61 (แปลงเอราวัณ) และ G2/61 (แปลงบงกช) ดังนี้
รายการข้อเสนอ แปลง G1/61
(แปลงเอราวัณ) แปลง G2/61
(แปลงบงกช)
ค่าคงที่ราคาก๊าซ (Pc)* บาท/ล้านบีทียู 116 116
ร้อยละปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรของผู้รับสัญญา (Profit Split) 32% 30%
โบนัสและผลประโยชน์พิเศษ
- โบนัสลงนาม (ล้านบาท) 1,050 1,050
- โบนัสการผลิต (ล้านบาท) 1,575 1,575
- เงินอุดหนุน (ล้านบาท/ปี) 7 7
- ผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ (ล้านบาท) 35 685
สัดส่วนการจ้างพนักงานไทย
- ร้อยละของพนักงานไทยเมื่อสิ้นปีที่ 1 98% 99%
- ร้อยละของพนักงานไทยเมื่อสิ้นปีที่ 5 98% 99%
*Pc; Price Constant = ค่าคงที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้ในการคำนวณในสูตรราคาก๊าซธรรมชาติตลอดอายุสัญญา
• ทั้งนี้ จากข้อเสนอค่าคงที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ 116 บาท/ล้านบีทียู สำหรับทั้งสองแปลง เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบัน ที่ 165 บาท/ล้านบีทียู สำหรับแปลงเอราวัณ และ 214.26 บาท/ล้านบีทียู สำหรับแปลงบงกช แล้วเทียบเท่าส่วนลดค่าใช้จ่ายราคาก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ เท่ากับ 550,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี ตามเงื่อนไขการผลิตขั้นต่ำ หรือปีละ 55,000 ล้านบาท และหากนำส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากทั้ง 2 แปลง มาใช้ลดค่าใช้จ่ายผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 29 สตางค์ต่อหน่วย ไปอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เราใช้เพียงร้อยละ 58 ของก๊าซธรรมชาติทั้งหมด เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงประมาณการได้ว่า หากเฉลี่ยส่วนลดให้ผู้ใช้ก๊าซทุกรายตามสัดส่วนการใช้จะประหยัดไฟฟ้าได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย
ในด้านข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ผู้ชนะการประมูลยังได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐมากกว่าร้อยละ 50 โดยข้อเสนอดังกล่าวมากกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท รวมถึงยังสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แปลง ได้ต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ซึ่งจะสามารถสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้กับประเทศ เพื่อเป็นรากฐาน ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างยั่งยืน
• นอกจากนี้ การพัฒนาทั้ง 2 แปลงนี้ ในช่วงระยะเวลา 10 ปีแรกของสัญญาแบ่งปันผลผลิต คาดว่า สามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และ ส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร ที่เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติ ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทย ในสัดส่วนร้อยละ 98 และยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท รวมทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท
• ทั้งนี้ ในส่วนของการให้หน่วยงานรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 25 นั้น เนื่องจากบริษัทที่ชนะการประมูลของทั้ง 2 แปลง คือบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ในส่วนของข้อเสนอดังกล่าวบริษัทที่ชนะการประมูลจึงเข้าเงื่อนไขด้านการเข้าร่วมของหน่วยงานรัฐ โดยแปลง G1/61 (แปลงเอราวัณ) ในสัดส่วนร้อยละ 60 และ แปลง G2/61 (แปลงบงกช) ในสัดส่วนร้อยละ 100 ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยทั้ง 2 แปลง อยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุด
รมว.พลังงาน เผย ครม.เคาะ PTTEP คว้า แหล่งปิโตรเลียมบงกช-เอราวัณ หลังให้ผลประโยชน์ต่อรัฐสูงสุด คาดลงนามได้ภายในกุมภาพันธ์ 2562
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดหนองคาย (ครม.) ในวันนี้ ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบผลการประมูลแหล่งปิโตรเลียม โดย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เป็นผู้ชนะการประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แห่ง คือ แหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณ เนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาและให้ผลประโยชน์ต่อรัฐดีที่สุด โดยคาดว่าจะสามารถลงนามได้ภายในกุมภาพันธ์ 2562
สำหรับ ในการประมูลครั้งนี้ แปลง G1/61 หรือแปลงเอราวัณ เป็นการดำเนินการภายใต้บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในขณะที่แปลง G2/61 หรือแปลงบงกช เป็นผู้ได้รับสิทธิเพียงผู้เดียว คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
ทั้งนี้ ในด้านข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐนั้น ผู้ชนะการประมูลได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐมากกว่า 50% โดยข้อเสนอดังกล่าวมากกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท รวมถึงยังสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แปลง ได้ต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ซึ่งจะสามารถสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้กับประเทศ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ การพัฒนาทั้ง 2 แปลง ในช่วงระยะเวลา 10 ปีแรก ของสัญญาแบ่งปันผลผลิต คาดว่าจะสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทย ในสัดส่วน 98% และช่วยลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4.6 แสนล้านบาท รวมทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท
นายศิริ กล่าวว่า ในข้อเสนอของ PTTEP นั้น ได้เสนอค่าคงที่ราคาก๊าซธรรมชาติที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู สำหรับทั้งสองแปลง ซึ่งปัจจุบัน ราคาแปลงเอราวัณอยู่ที่ 165 บาทอต่อล้านบีทียู และแปลงบงกช 214 บาทต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบแล้วจะพบว่า มีส่วนลดค่าใช้จ่ายราคาก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ 550,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี ตามเงื่อนไขการผลิตขั้นต่ำ หรือปีละ 55,000 ล้านบาท และหากนำส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากทั้ง 2 แปลง มาใช้ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 29 สตางค์ต่อหน่วย
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ตามที่กระทรวงพลังงานประกาศผลการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2561 นั้น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ขอแจ้งว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและเป็นผู้ดำเนินการ ในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ G2/61 (แหล่งบงกช) โดยมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 60 และร้อยละ 100 ตามลำดับ ทั้งนี้ แปลงสำรวจหมายเลข G1/61 เป็นการลงทุนร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) โดยคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตใน ไตรมาสแรกของปี 2562
บริษัท เชื่อมั่นว่าด้วยประสบการณ์ในฐานะผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและได้มีการเตรียมแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนไว้แล้วนั้น จะสามารถรักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติเมื่อเริ่มสัญญาแบ่งปันผลผลิตของทั้งแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชตามปริมาณการผลิตขั้นต่ำที่ 800 และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามลำดับ และจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตและปริมาณสำรองให้กับบริษัทในระยะยาว รวมทั้งแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้บริษัทบริหารจัดการต้นทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน