- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 18 May 2014 23:36
- Hits: 3642
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ประจำสัปดาห์ที่ 5-9 พ.ค. 57 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 12-16 พ.ค. 57
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมัน โดยราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ล่าสุดเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 107.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 100.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 104.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 122.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัว โดย HSBC ร่วมกับ Markit Economics รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Purchasing Managers’ Index หรือ PMI) ในเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ 48.1 จุด ซึ่ง PMI ต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะภาคการผลิตถดถอย เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
· องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปีนี้ ลง 0.2% จากการคาดการณ์ครั้งก่อน มาอยู่ที่ 3.4% จากปีก่อน
· กระทรวงน้ำมันของอิรักรายงานยอดส่งออกน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 57 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยเพิ่มขึ้น 370,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกจากตอนใต้ของประเทศ
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· สำนักสารนิเทศทางพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 พ.ค. 57 ลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 397.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น
· วิกฤติยูเครนยังตึงเครียด อาทิ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งฝักใฝ่รัสเซียประกาศดำเนินการลงประชามติ ในวันที่ 11 พ.ค. เพื่อแยกเมือง Donetsk และ Luhansk ออกไปปกครองตนเอง แม้ประธานาธิบดีรัสเซียออกมาแถลงไม่เห็นชอบด้วย
· ลิเบียยังผลิตน้ำมันดิบได้ในระดับต่ำ เพียง 250,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น เนื่องจากกลุ่มผู้ประท้วงไม่เชื่อถือต่อนายกรัฐมนตรีรักษาการคนใหม่ เพิ่มความไม่แน่นอนในการเจรจาหาข้อยุติเพื่อกลับมาเปิดดำเนินการท่าส่งออก 2 แห่ง
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกยังเพียงพอต่อความต้องการใช้ ส่วนหนึ่งจากการผลิตขององค์กรประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) โดยในเดือน เม.ย. 57 เพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 29.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ ยังใกล้เคียงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ข้อมูลล่าสุดจะลดลงมาบ้างก็ตาม ประกอบกับเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน เม.ย. 57 ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน อยู่ที่ +1.8% จากปีก่อนหน้า
ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ถดถอยเป็นเดือนที่ 26 อยู่ที่ -2% สะท้อนว่ารัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหากำลังการผลิตล้นตลาด (Overcapacity) อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยูเครนยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะในภาคตะวันออก หลังการลงประชามติ ในขั้นต้นปรากฏว่า 89 % ต้องการแยกดินแดนออกมาปกครองตนเอง และกองกำลังฝ่ายรัฐบาลบุกเข้ายึดคืนพื้นที่ ปะทะกับฝ่ายต่อต้าน มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 106-109 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 103-106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 98-101 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ในสัปดาห์ล่าสุดราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินลดลง โดยปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 โดยในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 0.7 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 13.0 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 8 สัปดาห์ และอินโดนีเซียมีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน มิ.ย. 57 ต่ำกว่าคาดการณ์ โดยปริมาณ 88 RON อยู่ที่ 8.5-9.0 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เดือน มิ.ย. 56 อินโดนีเซียนำเข้า 10.4-10.6 ล้านบาร์เรล เพื่อเก็บสำรองก่อนเข้าสู่เทศกาลถือศีลอด ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 118-121 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลง โดยปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 0.3 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 11.4 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ผู้ค้าคาดจีนจะส่งออก Gas Oil เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับอุปสงค์จากการทำประมงทางภาคใต้ ในช่วงกลางเดือน พ.ค.- ส.ค. 57 จะลดลงประมาณ 2.0 ล้านบาร์เรล เนื่องจากเป็นช่วงห้ามจับปลาทะเล สำหรับในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 121-124 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันที่
น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์ในยูเครนและปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียยังคงเดิม
+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ้มขึ้น เนื่องจากตลาดยังคงกังวลกับสถานการณ์ในยูเครน หลังจากการประกาศผลการลงประชามติของประชาชนในภาคตะวันออกของยูเครนในวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมติให้มีการแบ่งแยกดินแดนภาคตะวันออกออกจากยูเครน และจะผนวกเข้ากับรัสเซีย ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปได้ทำการคว่ำบาตร โดยอายัดวีซ่ากลุ่มคนใกล้ชิดของนายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเพิ่มเติมอีก 15 คน รวมไปถึงจะยึดทรัพย์บริษัทพลังงานที่จดทะเบียนในไครเมียอีกด้วยเช่นกัน
+ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ หลังจากสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ประจำสัปดาห์ที่ 9 พ.ค.57 ลดลง 590,000 บาร์เรล และปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังลดลง 2 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรล โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบจะลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากฤดูกาลท่องเที่ยวของสหรัฐฯ กำลังจะเริ่มขึ้นและจะมีปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้
+ ราคาน้ำมันดิบเบรน์ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์เช่นกัน เนื่องจากปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียยังคงมีปริมาณเท่าเดิมที่ระดับ 235,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปริมาณที่คาดการณ์ไว้ที่ 500,000 บารร์เรลต่อวัน ถึงแม้ว่าท่าเรือ El Sharara, El Feel และ Wafa กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งหลังจากที่กลุ่มผู้ก่อการกบฏได้บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลลิเบียแล้วก็ตาม
+/- ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ประจำเดือน เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 0.1% ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.4% โดยการปรับเพิ่มขึ้นครั้งนี้ เป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
+/- ยอดค้าปลีกของจีน ประจำเดือน เม.ย. ปรับเพิ่มขี้นมาอยู่ที่ระดับ 11.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 12.2% ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน ประจำเดือน เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 8.9% โดยสะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจของจีนได้แผ่วบางลง
ราคาน้ำมันดีเซล ตลาดสิงคโปร์ปิดเนื่องจากวันวิสาขบูชา
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 98-105 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 105-111 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเริ่มปรับตัวลดลงหลังจากโรงกลั่นบางส่วนทยอยกลับมาดำเนินการหลังจากช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปี
สถานการณ์ความตึงเครียดกรณีรัสเซีย-ยูเครน ภายหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางฝั่งตะวันออกของยูเครนระหว่างกบฏแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่ฝ่ายรัสเซีย และทหารของรัฐบาล โดยล่าสุดมีแผนการลงประชามติแบ่งแยกดินแดนดังกล่าวเพื่อผนวกเข้ากับรัสเซีย
การเจรจาเปิดใช้ท่าขนส่งน้ำมันดิบ Las Ranuf และ Es Siderเพิ่มเติม ซึ่งหากสำเร็จลุล่วงจะทำให้ลิเบียส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มอีกราว 650,000 บาร์เรลต่อวัน
รายงานประจำเดือนพ.ค. ของ OPEC และIEA ที่จะออกมาในวันที่ 13 และ 15 พ.ค.นี้ ตามลำดับ ว่าจะมีมุมมองต่ออุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบโลก หลังจากอุปสงค์น้ำมันดิบโลกถูกกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ส่อเค้าซบเซา รวมไปถึงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจรัสเซีย
จีดีพีไตรมาส 1/57 ของสหภาพยุโรป ที่จะประกาศในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าหรือไม่ท่ามกลางความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหภาพยุโรป หากการคว่ำบาตรต่อรัสเซียซึ่งเป็นคู่ค่าสำคัญทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น