- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 10 September 2018 20:44
- Hits: 7562
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 10 - 14 ก.ย. 61
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 - 14 ก.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบคาดจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกของอิหร่านและเวเนซุเอลาที่ปรับลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน หลังได้รับแรงหนุนจากโรงกลั่นที่คงกำลังการกลั่นในระดับสูงและปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง หลังได้รับผลกระทบจากพายุ Gordon ประกอบกับเกิดเหตุการณ์ประท้วงในอิรักตอนใต้ โดยผู้ประท้วงได้รุกล้ำเข้าไปในเขตผลิตน้ำมันดิบ กำลังการผลิต 400,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้เกิดความกังวลต่ออุปทานน้ำมันที่อาจขาดหายไป อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน หลังสหรัฐฯ เตรียมประกาศเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 25 กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งรวมมูลค่ากว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเร็วๆนี้
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านคาดจะปรับลดลง หลังหลายประเทศได้เริ่มปรับลดการนำเข้าน้ำมันดิบลงก่อนที่จะมีการประกาศคว่ำบาตรในวันที่ 4 พ.ย. โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน ส.ค. ปรับลดลงกว่า 150,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 3.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณการส่งออกปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ราว 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเกาหลีใต้ได้หยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ขณะที่ญี่ปุ่นและอินเดียเริ่มทยอยปรับลดการนำเข้าลง อย่างไรก็ตาม จีนยังคงนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในระดับสูงต่อเนื่อง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันยังคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงหลังผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติหยุดดำเนินการผลิตก่อนที่พายุ Gordon จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้แหล่งผลิต โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค. 61 ปรับตัวลดลง 4.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 401.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล
เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันโลกคาดจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่จะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) และเตรียมเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 25 กับสินค้านำเข้าของจีนมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเร็วๆ นี้ ขณะที่จีนคาดจะมีการออกมาตรการตอบโต้โดยการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าของสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 25
จับตาการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกในวันที่ 11 และ 23 ก.ย.นี้ ว่ากลุ่มผู้ผลิตจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาและอิหร่านที่ขาดหายไปหรือไม่ โดยล่าสุดในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ผลิตปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นกว่า 0.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาสู่ระดับ 32.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยการผลิตของลิเบียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเริ่มคลี่คลายลง
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน ยอดค้าปลีกจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคจีน ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 – 7 ก.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 2.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 75.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนจากกำลังการผลิตของอิหร่านที่ได้ปรับลดลงกว่า 150,000 บาร์เรลต่อวัน หลังประสบกับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ประกอบกับ กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ได้ปรับลดลงกว่าร้อยละ 9.4 หลังมีการระงับการผลิตที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน 2 แห่งในอ่าวเม็กซิโก ก่อนพายุร้อน Gordon จะมุ่งหน้าเข้าไปในบริเวณดังกล่าว รวมถึง น้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ทึ่ได้ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานโอเปกล่าสุดเผยว่ากำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกได้เพิ่มขึ้นมากว่า 200,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือน พ.ค. ไปยังเดือน ก.ค. นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ หลังทั้งประเทศไม่สามารถตกลงกันได้ในการประชุมที่ผ่านมา
Click Donate Support Web