- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 04 September 2018 19:50
- Hits: 3284
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังตลาดกังวลอุปทานจากอิหร่านปรับลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังได้รับแรงหนุนจากตลาดน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านเริ่มปรับตัวลดลง โดยล่าสุดจากผลสำรวจของสำนักข่าว Reuters พบว่าปริมาณการผลิตของอิหร่านในเดือน ส.ค. ปรับตัวลดลงกว่า 150,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า หลังหลายประเทศได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และ ยุโรป เริ่มทยอยปรับลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน
- ผลสำรวจ Reuters พบว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในเดือน ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 220,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า มาสู่ระดับ 32.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังความไม่สงบในประเทศเริ่มคลี่คลายลง
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ส.ค. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 แท่น มาอยู่ที่ 862 แท่น
- ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ายังส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก หลังสหรัฐฯ ขู่จะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) และเตรียมเก็บภาษีนำเข้าราวร้อยละ 25 กับสินค้าจากจีนซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเร็วๆนี้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อในภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากอินโดนีเซียและตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจาก ปริมาณการส่งออกของจีนที่ปรับลดลง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทานตึงตัวมากขึ้น หลังปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนปรับลดลง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 68-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
สำนักข่าว Reuters เผยปริมาณการส่งน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน ส.ค. 61 ลดลงมาแตะระดับ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดที่ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังได้เผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ซึ่งกำกับให้ทุกประเทศหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านนับตั้งแต่ 4 พ.ย. 61 นี้เป็นต้นไป
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากท่าเรือขนส่งน้ำมันหลักของประเทศได้มีการหยุดดำเนินการลง หลังเกิดเหตุเรือขนส่งน้ำมันดิบชนกัน
จับตาการการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกในเดือน ก.ย. ว่าจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านที่หายไปหรือไม่
Click Donate Support Web