- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 17 September 2014 00:47
- Hits: 3107
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มเล็กน้อยหลังมีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดจากแรงจูงใจของราคาน้ำมันที่ตกต่ำ
+/- ราคาน้ำมันเบรนท์ตกลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือนจากการชะลอตัวลงของตัวเลขเศรษกิจจีนและยุโรป ประกอบกับน้ำมับดิบเวสต์เท็กซัสที่ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือนในอาทิตย์ก่อนหน้า เป็นแรงหนุนให้มีแรงซื้อกลับเข้าเล่นมาในตลาด ส่งผลให้ราคาปิดของน้ำมันดิบทั้งสองปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
+ ปริมาณการส่งออกน้ำมันของรัสเซียมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสที่ 4 จากการส่งออกน้ำมันดิบที่ลงลดของท่าเรือทะเลบาลติกในเมือง Primorsk จาก 12.5 ล้านตันมาอยู่ที่ 11.5 ล้านตันในช่วง ก.ค. ถึง ก.ย. ขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบเอสโปจากท่าเรือแปซิฟิกของเมือง Kozmino ก็ปรับตัวลดลงเช่นกันจาก 6.15 ล้านตันมาอยู่ที่ 6.10 ล้านตัน
- การเติบโตของปริมาณความต้องการสินค้าจากจีนเดือน ส.ค. แตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ตัวเลขที่ลดลงนี้หมายรวมถึงการชะลอตัวลงของปริมาณการค้าปลีก การลงทุนและปริมาณการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.ปรับตัวลดลงจากเติบโต 9.0% ในเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ระดับเติบโต 6.9% และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับเติบโต 8.8%
- องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ปรับระดับการเติบโตของอุปสงค์การใช้น้ำมันลง 150,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 900,000 บาร์เรลต่อวัน จากที่คาดการณ์ก่อนหน้าว่าจะลดลงเพียง 65,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์อุปทานน้ำมันจากกลุ่มประเทศนอกโอเปคจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2014 และ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2015 จากอุปทานจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของทางอเมริกาเหนือ ส่งผลให้ประมาณการความต้องการน้ำมันจากกลุ่มประเทศโอเปคปรับลดลง 300,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ 29.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศโอเปคเดือน ส.ค. อยู่ที่ 30.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ส.ค. 57 ปรับตัวลดลงมาเติบโตที่ระดับ -0.1% จากระดับ 0.4% ในเดือน ก.ค. และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่เติบโต 0.3 % หลังการผลิตยานยนต์ในสหรัฐฯ ชะลอตัวลงถึง -7.6% ลดลงจาก +9.3% ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดีปริมาณการขายยานยนต์ในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับที่ดี กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมรวมปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 78.8% จากระดับ 79.1% .ในเดือน ก.ค. ผ่านมา
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงเท่ากันกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ที่ดีจากภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย โดยคาดว่าจะมีการนำเข้าน้ำมันเบนซิน 11 ล้านบาร์เรลภายในเดือน ก.ย.ทำให้อุปทานในตลาดเอเชียตึงตัวขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้ว่าหลังตลาดมีความกังวลเรื่องอุปทานที่จะเพิ่มเข้ามาจากการเริ่มดำเนินการของ condensate splitter ในเอเชียแปซิฟิกและโรงกลั่นน้ำมันใหม่ของซาอุดิอาระเบียและอินเดีย ประกอบกับอุปสงค์ที่จะอ่อนตัวลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในหลายประเทศ
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 90-96 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 96-102 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตามองกลุ่ม OPEC ว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการจัดการกับอุปทานน้ำมันดิบที่มีอยู่จำนวนมากในตลาด ขณะที่ลิเบียสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศก็ตาม ล่าสุดปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่า 800,000 บาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะผลิตได้ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค.นี้
นอกจากนี้แหล่งน้ำมันดิบ Buzzard บริเวณทะเลเหนือ ซึ่งมีกำลังการผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน ได้กลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง หลังจากปิดซ่อมบำรุงเมื่อปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา
จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 ก.ย. นี้ ซึ่งตลาดมองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด อาจมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนดในปีหน้า หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในตลาดปริวรรตเงินตรามากขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลง
จับตาผลของการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของอีซีบียังไม่แข็งแกร่งพอที่จะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจของ ยูโรโซนได้