- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 28 August 2018 12:26
- Hits: 3188
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 27-31 ส.ค. 61 และสรุปสถานการณ์ฯ 20-24 ส.ค. 61
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 – 31 ส.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง จากแรงหนุนของการลดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตร ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความต้องใช้ภายในประเทศที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และระหว่างสหรัฐฯ กับตุรกี ที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และนำไปสู่การปรับลดลงของความต้องการใช้น้ำมันโลก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการประกาศขายน้ำมันดิบในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ราว 11 ล้านบาร์เรล ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนต.ค. ถึงเดือนพ.ย. 61
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างเนื่อง หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน และเรียกร้องให้ทุกประเทศหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านนับตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. นี้เป็นต้นไป ซึ่งยุโรปได้ลดการนำเข้าน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เกาหลีใต้หยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือนนี้ นอกจากนี้ อินเดียยังนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเพียง 650,000 บาร์เรล ตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. เป็นต้นมา เมื่อเทียบกับเดือนก.ค. 61 ที่นำเข้าราว 24.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านจากจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลง หลังโรงกลั่นคงอัตราการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ส.ค. ปรับตัวลดลงราว 5.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 408.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่อัตราการกลั่นของโรงกลั่นสหรัฐฯ ยืนอยู่ที่ร้อยละ 98.1 ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สอง และนับเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ความต้องการใช้น้ำมันโลกคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หลังสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในวันที่ 23 ส.ค. สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 25 กับสินค้าของจีนมูลค่ารวมกว่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่จีนก็ออกมาตอบโต้โดยการเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 25 กับสินค้าของสหรัฐฯ ในมูลค่ารวมเท่ากัน นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับตุรกี ที่มีความเป็นไปได้ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ และความต้องการใช้น้ำมัน หลังสหรัฐฯ ขู่ว่าจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
จับตาการขายน้ำมันดิบในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves หรือ SPR) ราว 11 ล้านบาร์เรล ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนต.ค. ถึงเดือนพ.ย. 61 เพื่อลดความกังวลต่อภาวะอุปทานที่อาจจะตึงตัวมากขึ้นหลังอิหร่านโดนคว่ำบาตรในช่วงเดือน พ.ย. โดยในช่วงต้นปี สหรัฐฯ ได้ทำการขายน้ำมันดิบราว 5.2 ล้านบาร์เรล จากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ไปแล้ว
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/61 สหรัฐฯ รายได้ส่วนบุคคลสหรัฐฯ รายจ่ายในการบริโภคของบุคคลสหรัฐฯ อัตราการว่างงานยูโรโซนและดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 – 24 ส.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว เนื่องจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะถึงวันที่ 4 พ.ย. นี้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง หลังนาย โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
Click Donate Support Web