- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 29 July 2018 14:42
- Hits: 22311
'กกพ.' พร้อมหนุนปฏิรูปภาคพลังงานไทย
กกพ.' ชิงธงประกาศความพร้อม ปฏิรูปภาคพลังงานไทย รับมือนวัตกรรมพลังงานสากลผลักดัน เอกชนร่วมพัฒนาภาคพลังงาน เตรียมโละใบอนุญาตโรงไฟฟ้า เหลือใบเดียว เร่งเดินหน้าประกาศโครงสร้างค่าไฟใหม่ ทยอยเพิ่มบทบาทเอกชนในกิจการก๊าซ มุ่งสร้างความเป็นธรรม และความเข้มแข็งในกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในงานกำกับ
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. กำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกเลิกระบบ และหลักเกณฑ์ การขออนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าจากเดิมผู้ประกอบการจะต้องยื่นขออนุญาตกับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เป็นการยื่นขออนุญาตกับสำนักงาน กกพ. ที่เดียวแทน พร้อมกับจะลดจำนวนใบอนุญาตให้เหลือเพียง 1 ประเภท คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2563
“ภาพของโรงไฟฟ้าในอนาคตจะเปลี่ยนไปจากเดิม จากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ จะเปลี่ยนเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของภาคเอกชนขนาดเล็กลง กระจายตัวในพื้นที่ และใกล้แหล่งเชื้อเพลิงมากขึ้น กกพ. เองก็ต้องปรับตัวตาม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก สร้างความคล่องตัว ส่งเสริมการแข่งขัน รองรับแนวทางการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน ที่ต้องการสร้างความชัดเจนในบทบาทภารกิจขององค์กรภาคพลังงาน และมุ่งเน้น การเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในภาคพลังงานมากขึ้น” นายพรเทพ กล่าวระหว่างการแถลงข่าว ในหัวข้อ “บทบาทของ กกพ. กับแผนปฏิรูปพลังงาน และแผนพีดีพีฉบับใหม่”
ทั้งนี้ กกพ. เสนอให้มีแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานปี 2550 เพื่อให้อำนาจ กกพ. ในการดำเนินการดังกล่าว โดยทาง สำนักงาน กกพ. จะนำเสนอกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในลำดับต่อไป
นายพรเทพ กล่าวว่า นอกจากนี้ภายใต้ แผนการปฏิรูปประเทศในภาคพลังงาน ส่งผลให้ กกพ. จะต้องมีการปรับตัวในหลายๆ ด้าน ซึ่งประกอบด้วย
• การประกาศโครงสร้างค่าไฟใหม่ จะสามารถประกาศและสร้างความเข้าใจโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่
ปี 61-63 ได้ภายในปี 2561 และอัตราค่าไฟพิเศษ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการประกาศหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการพิเศษ อัตราค่าบริการการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน ค่าไฟฟ้าเกาะ และอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) คาดว่าจะประกาศได้ในต้นปี 2562
• การพัฒนาบทบาท ภารกิจ การกำกับ เพื่อรองรับนวัตกรรมทางด้านไฟฟ้า ได้แก่
o การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการกำกับกิจการพลังงาน และการนำ Big Data ไปใช้ประโยชน์ในภาคพลังงาน ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลโรงไฟฟ้า ข้อมูลปริมาณไฟฟ้ารายภาค ข้อมูลปริมาณไฟฟ้าเชิงพื้นที่ และข้อมูลปริมาณไฟฟ้าแบบ Near Real Time ภายในเดือนธันวาคม 2561
o การทบทวนหลักเกณฑ์ ศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบ Block Chain ซึ่งจะได้มีการศึกษา วิเคราะห์ ผ่านการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาศึกษา วิเคราะห์ผลดี ผลเสีย ความพร้อมและแนวทางการกำกับดูแล
o การทบทวนหลักเกณฑ์และศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้เกี่ยวกับ การซื้อขายพลังงานภายใต้รูปแบบ Prosumerization ซึ่งเชื่อมโยงกับกระบวนการซื้อขายไฟฟ้าผ่าน Block Chain
o ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) กำลังอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการดำเนินธุรกิจหลากหลายของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า และประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยมุ่งเน้นการรองรับการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งระบบ
• การพัฒนาบทบาท ภารกิจ การกำกับ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และการนำเข้าก๊าซ LNG โดยได้กำหนดพื้นที่นำร่อง TPA ระบบส่งและระบบจำหน่าย ซึ่ง กกพ. จะต้องกำหนด Code of Conduct ในการบริหารจัดการ รวมทั้งจัดทำโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ เพื่อรองรับนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติในอนาคต
• การพัฒนาบทบาท ภารกิจ และความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ในรูปแบบของ การสร้างความเข้มแข็งของ คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต การพัฒนาและการสร้างความยั่งยืนในผ่านกลไกกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้กับภาคพลังงานไทย ได้แก่ การยกระดับมาตรฐานสัญญาให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ หลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนใหม่ พัฒนาศักยภาพคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) และพัฒนาระบบการร้องเรียนแบบออนไลน์ (e-Petition online)
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล โฆษก กกพ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี กกพ. ได้มีการเตรียมองค์กรอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วของภาคพลังงาน และการปฏิรูปประเทศทางด้านพลังงาน รวม 7 ภารกิจ ประกอบด้วย
ภารกิจที่ 1 ภารกิจเร่งด่วนในช่วงปีแรกของการเข้ามาทำหน้าที่ กกพ. ได้มีการแก้ไขปัญหาความล่าช้า และความคล่องตัวในการอนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้า และพัฒนากระบวนการให้บริการในการอนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) โดยได้รวบรวมกระบวนการออกใบอนุญาตของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (อ.1) ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า (รง.4) และ ใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) โดยมีกรอบระยะเวลาการบริการการออกใบอนุญาต ดังนี้ ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ภายใน 75 วัน, ใบ อ.1 ภายใน 45 วัน, ใบ รง.4 ภายใน 60 วัน และ ใบ พค.2 ภายใน 120 วัน
ภารกิจที่ 2 การปรับปรุงและยกระดับประสิทธิภาพการกำกับดูแลภาคพลังงานให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและมีความเป็นธรรม ได้แก่ การประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ปี 58-60 ทบทวนปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าสำรองชั่วคราว (Back Up Rate) และค่าเชื่อมต่อ (Connection Charge) และได้กำหนดอัตราค่าบริการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ
ภารกิจที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพงานกำกับ โดยการศึกษาวิเคราะห์ และเตรียมการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศทางด้านพลังงาน “SMART Energy Management” ตามนโยบาย Energy 4.0 พัฒนาข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (รวมข้อมูล IPS และ SPP ทั้งที่ผลิตไฟใช้เองขายลูกค้าตรง) พัฒนาระบบการรายงานข้อมูลไฟฟ้าแบบ Near Real Time และพัฒนา Mobile Application ‘ERC Thailand’
ภารกิจที่ 4 การจัดการภาวะวิกฤตด้านพลังงาน และการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน Demand Response (DR) ผ่านมาตรการ DR 3 มาตรการหลัก 4 มาตรการย่อย โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กกพ. ได้ดำเนินโครงการ Demand Response ในช่วงก๊าซ JDA-A18 หยุดซ่อม และก๊าซพม่าหยุดซ่อมบำรุง จำนวน 4 ครั้ง และในปี 2561 นี้ กกพ. ได้เริ่มโครงการนำร่องการใช้ Demand Response ในรูปแบบ Critical Peak Pricing (CPP) เพื่อพัฒนาเป็นมาตรการถาวรในการลดการสร้างโรงไฟฟ้าและลดภาระการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนในระยะยาว
ภารกิจที่ 5 การยกระดับงานกำกับกิจการพลังงานเพื่อรองรับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน การดำเนินงานตามแนวนโยบายการรับซื้อพลังงานทดแทนตามแผน AEDP โดยมีสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกว่า 9,935 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ พ.ค. 61) จากเป้าหมายการรับซื้อตามแผนในปี 2579 จำนวน 16,778 เมกะวัตต์ การดำเนินงานเพื่อรองรับการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยได้ประกาศอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าแล้ว และจัดทำคู่มือการขออนุญาตติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า การกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน โดยได้ออกประกาศ กกพ. เรื่อง การอนุญาตเป็นหน่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า พ.ศ. 2560 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา 20 กุมภาพันธ์ 2561
ภารกิจที่ 6 การบริหารจัดการความมั่นคงทางด้านพลังงาน ด้วยแนวทางการการเพิ่มการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access : TPA) โดยเมื่อเดือน มี.ค. 58 กกพ. ได้อนุมัติและประกาศใช้ TPA Code และ TPA Regime ฉบับปรับปรุง และในปี 2560 กพช. ได้อนุมัติให้ กฟผ. ดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมในการทำหน้าที่เป็น Shipper รายใหม่ ในการจัดหา LNG นำเข้าปริมาณ 1.5 ล้านตัน เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เองภายในปี 2561 นอกจากนี้ยังมีผลงานด้านการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเชิงวิชาการด้านพลังงานระหว่างประเทศ INTER FORUM 2017 (ครั้งที่6) เกี่ยวกับเรื่อง Energy Policy / Energy Vision in Digital Economy เพื่อสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานกำกับกิจการพลังงาน ภายใต้กรอบความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ภารกิจที่ 7 การคุ้มครองสิทธิและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการพลังงาน โดยตั้งแต่ปี 2559 ยกระดับสัญญาบริการผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย การคืนดอกผลที่เกิดจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าต้องจ่ายดอกผลที่เกิดจากการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าทุกรอบระยะเวลา 5 ปี ในรูปแบบของการหักลดค่าไฟฟ้า โดยเริ่มคิดดอกผลให้ตั้งแต่ปี 2558 ในอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยทั้งปีของธนาคารกรุงไทย ประเภทรัฐวิสาหกิจ และจะเริ่มจ่ายคืนครั้งแรกในรอบบิลไฟฟ้าเดือน ก.พ. 63 และในปี 2561 ได้เริ่มกำหนดมาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในปี 2561 นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการสรรหา คพข. รุ่นที่ 3 โดยเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 61 สำนักงาน กกพ. ได้ออกประกาศบัญชีรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาเป็น คพข. รุ่นที่ 3 ทั้ง 143 คน ทั่วประเทศ ในส่วนของผลงานด้านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ปี 55-61 กกพ. ได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการชุมชน จำนวน 41,922 โครงการ งบประมาณรวม 15,487 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการชุมชนด้านต่างๆ ดังนี้ 1) ส่งเสริมคุณภาพชีวิต สุขภาพ สุขภาวะ 2) การพัฒนาอาชีพ 3) พัฒนาการเกษตร 4) พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน 5) พัฒนาการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และ 6) การพัฒนาชุมชน
เกี่ยวกับ กกพ. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน องค์กรหลักในการกำกับดูแลกิจการพลังงานของชาติด้านกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีบริการอย่างมั่นคง และมีเสถียรภาพ ในราคาที่เหมาะสม โดยยึดมั่นในความยุติธรรม คุณธรรม และความโปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพึ่งพากันอย่างยั่งยืน ระหว่างกิจการพลังงาน สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนารากฐานพลังงานของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต