- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 28 July 2018 18:24
- Hits: 2598
กกพ.ยันไม่ยืดเวลายื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าจากขยะชุมชน 78 MW หากครบกำหนด 30 ก.ย.61
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า การรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจำนวนประมาณ 78 เมกะวัตต์ (MW) จะปิดให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าภายในวันที่ 30 ก.ย.61 โดยขณะนี้มีเจ้าของโครงการทยอยยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาบ้างแล้ว และหากครบกำหนดแล้วมีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาไม่ครบจำนวนก็จะไม่ขยายระยะเวลาการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าออกไปอีก หลังจากที่ได้ขยายระยะเวลามา 1 ครั้งก่อนหน้านี้
"ตอนนี้ เริ่มมีทยอยเข้ามายื่นเรื่อย ๆ เราก็จะพิจารณาเป็นรอบ ๆไป ได้มาเท่าไหร่ก็เท่านั้นคงไม่ขยายเวลาออกไปอีก กกพ.ต้องการเพียงผู้ดำเนินการที่ผ่านขั้นตอนข้อกฎหมายเรื่องพ.ร.บ.ร่วมทุนฯจากกระทรวงมหาดไทยมาแล้วเท่านั้น"นายวีระพล กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ.ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน จำนวน 78 เมกะวัตต์ ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.60-30 ก.ย.61 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกภายในวันที่ 31 ต.ค.61 โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (SCOD) เป็นภายในปี 64
สำหรับ ผู้ที่ดำเนินโครงการดังกล่าวจะอยู่ในบัญชีโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และข้อมูลศักยภาพระบบไฟฟ้า ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Projects) ที่ได้รับแจ้งจากกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทั้งหมด 12 โครงการ 8 พื้นที่ ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา แบ่งเป็น เจ้าของโครงการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา ตั้งโรงไฟฟ้า ต.มหาพราหมณ์ อ.บางบาล ,เจ้าของโครงการ เทศบาลตำบลนครหลวง (1) ในต.บางระกำ อ.นครหลวง และเทศบาลตำบลนครหลวง (2) ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี , จ.นนทบุรี ได้แก่ เจ้าของโครงการ อบจ.นนทบุรี (2) ต.คลองขวาง อ.ไทรน้อย และ อบจ.นนทบุรี (3) ต.คลองขวาง อ.ไทรน้อยจ.ระยอง เจ้าของโครงการ อบจ.ระยอง ต.น้ำคอก อ.เมือง ,จ.หนองคาย เจ้าของโครงการ อบจ.หนองคาย ต.โพนสว่าง อ.เมือง ,จ.กระบี่ เจ้าของโครงการ เทศบาลเมืองกระบี่ อ.เมือง, จ.ตาก เจ้าของโครงการ เทศบาลแม่สอด ต.แม่ปะ อ.แม่สอด ,จ.อุดรธานี เจ้าของโครงการ เทศบาลอุดรธานี ต.หนองนาคำ อ.เมือง, กรุงเทพมหานคร ได้แก่ เจ้าของโครงการ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม ถ.พุทธมณฑลสาย 3 เขตหนองแขม และเจ้าของโครงการ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช ถ.อ่อนนุช เขตประเวศ
นายวีระพล กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015)จะรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ 550 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะมีสัญญาอยู่แล้ว 399 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ขยะอุตสาหกรรมได้ดำเนินการคัดเลือกได้แล้ว 37 เมกะวัตต์ และขยะชุมชน 361 เมกะวัตต์
ขณะที่ปัจจุบันสำนักงาน กกพ.อยู่ระหว่างการเปิดให้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าจากขยะชุมชน 78 เมกะวัตต์ ซึ่งก็จะทำให้การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนใกล้เคียงเป้าหมายแล้ว รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมด้วย ทำให้หลังจากนี้ก็จะไม่มีประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะเพิ่มเติมเพราะจะต้องรอการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) และแผน AEDP ฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งคาดว่ากรอบของแผนจะมีความชัดเจนในเดือน ก.ย.61
ส่วนปัจจุบันที่มีหลายหน่วยงานที่มีปริมาณขยะได้เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมประมูลเพื่อบริหารจัดการขยะด้วยการนำเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้านั้น เป็นการดำเนินการของหน่วยงานดังกล่าวเอง คาดว่าอาจจะเป็นการบริหารจัดการของหน่วยงานนั้น ๆ เพื่อรอทางการประกาศให้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในรอบใหม่ต่อไปในอนาคต โดยเบื้องต้นเห็นว่ายังมีปริมาณขยะเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้อีก 300-500 เมกะวัตต์ ในอนาคต แต่ กกพ.จะประกาศให้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ยังต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากทางรัฐบาลต่อไปก่อน
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรในทุกกลุ่มพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนกว่า 7,800 แห่งที่มีการรวมกลุ่มเพื่อกำจัดขยะมูลฝอยและภูเขาขยะ 324 ลูก ทั่วประเทศ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยขอให้พิจารณาขนาด และที่ตั้งให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทย ได้หารือเพื่อดำเนินการเรื่องกำจัดขยะชุมชนร่วมกันตลอด แต่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันของทั้งสองกระทรวง เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยต้องการปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะเพิ่มขึ้น ภายใต้วงเงินอุดหนุน FiT เท่าเดิมที่ 5.78 บาท/หน่วย ขณะที่รมว.พลังงาน มีนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่สูงกว่าราคาขายส่งไฟฟ้าที่ราว 2.4 บาท/หน่วยเพราะการผลิตไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้จากการกำจัดขยะเท่านั้น ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ควรรับภาระทั้งหมด โดยกระทรวงพลังงานมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นผู้ศึกษารายละเอียดทั้งหมดต่อไป
อินโฟเควสท์