- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 23 July 2018 19:34
- Hits: 2586
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 23 - 27 ก.ค. 61 และสรุปสถานการณ์ฯ 16 - 20 ก.ค. 61
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (23 – 27 ก.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง หลังอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวน้อยลงจากโอเปกที่เพิ่มกำลังการผลิตและสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศลิเบียคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ Ras lanuf Es Sdier Zueitina และ Hariga ได้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง รวมถึง ความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่องและอาจส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากการส่งออกของอิหร่านที่คาดจะปรับลดลงหลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร รวมถึง ปริมาณการผลิตของเวเนซุเอลาคาดจะปรับตัวลดลง หลังบริษัท PDVSA ประกาศการปิดซ่อมบำรุงของหน่วยผลิตน้ำมันดิบชนิดหนัก 2 โรง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังในสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังปรับเพิ่มขึ้นกว่า 5.8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันดิบ โดยเฉพาะจากกลุ่มโอเปกปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัตการณ์ หลังทรงตัวในระดับสูงที่ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ติดต่อกันมากว่า 4 สัปดาห์
ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ Zueitina และ Hariga ซึ่งมีกำลังการขนส่งราว 400,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ รวมถึง แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Feel ที่มีกำลังการผลิตกว่า 75,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาทำการอีกครั้ง หลังปิดตัวลงในเดือน ก.พ. 61 อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันดิบจะยังคงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ Ras Lanuf และ Es Sider ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ หลังถังเก็บน้ำมันดิบได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก จึงต้องมีการปิดซ่อมบำรุงไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันดิบ Sharara ปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 160,000 บาร์เรลต่อวัน หลังเกิดเหตุลักพาตัวคนงานโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน คาดจะส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน หลังจีนเตรียมประกาศมาตรการภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเร็วนี้ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. และมูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เตรียมจะประกาศภายในสิ้นเดือนนี้ นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างทั้งสองประเทศอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น หากสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าราว 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 10
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศอิหร่านมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง หลังสหรัฐฯ ปฏิเสธยุโรปและฝรั่งเศสจากคำขอข้อยกเว้นสำหรับการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน แม้ เลขานุการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวว่าอาจมีข้อยกเว้นก็ตาม โดยการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านของประเทศเกาหลีใต้ในเดือน มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา ได้ปรับลดลงกว่าร้อยละ 33.9 จากในช่วง เม.ย. 60 นอกจากนี้ ธนาคารใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่นได้กล่าวว่าจะไม่ทำธุรกรรมใดๆ กับประเทศอิหร่านเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับของสหรัฐฯ
ภาวะอุปทานน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง หลังอุปทานน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาคาดจะปรับลดลงต่อเนื่องในเดือนหน้า จากการปิดซ่อมบำรุงของหน่วยผลิตน้ำมันดิบชนิดหนัก 2 โรง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นกว่า 700,000 บาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุดในเดือน มิ.ย. 61 ปริมาณการผลิตของเวเนซุเอลาปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปีที่ราว 1.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ อุปทานจากนอร์เวย์ปรับลดลง หลังสหภาพแรงงานและบริษัทยังไม่สามารถตกลงเรื่องค่าจ้างได้ ส่งผลให้ต้องมีการปิดดำเนินการแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบ ซึ่งมีกำลังการผลิตกว่า 23,900 บาร์เรลต่อวัน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนี ภาคการผลิตและบริการ ของ ยุโรป ยอดขายบ้านใหม่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน GDP ไตรมาส 2 สหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 – 20 ก.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 71.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากการกลับมาของท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ Ras Lanuf Es Sider Zueitina และ Hariga ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียคาดจะกลับมามากกว่า 400,000 บาร์เรลต่อวัน จากที่ขาดหายไปกว่า 850,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5.8 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ค. 61 อย่างไรก็ตาม บริษัทผลิตน้ำมัน PDVSA ประกาศว่าจะมีการปิดซ่อมบำรุง โรงผลิตน้ำมันดิบหนัก 2 โรงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันราว 700,000 บาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง การปิดซ่อมบำรุงของแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ที่แคนาดายังคงคาดจะยืดเยื้อไปถึงเดือน ก.ย. 61 ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัวอย่างต่อเนื่อง