- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 20 July 2018 12:17
- Hits: 1681
กบง.ปรับปรุงกลไกราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว LPG รายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 โดยมี ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ยืนยันว่าสถานภาพของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเสถียรภาพ รัฐบาลจะดูแลราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ขายให้กับประชาชนเพื่อบรรเทาภาระ ค่าครองชีพ และสนับสนุนนโยบายการแข่งขันในกิจการก๊าซ LPG หรือหากมีการส่งออกก็จะดำเนินการได้อย่างจำกัด และที่ประชุมได้พิจารณาวาระสำคัญ ๆ ดังนี้
• การปรับปรุงกลไกราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว
- สืบเนื่องจากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนโยบายส่งเสริมการแข่งขัน ในกิจการก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)แต่จากสถานการณ์ด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตลาดโลกขณะนี้ มีความผันผวน เพื่อเป็นการบริหารจัดการสถานการณ์ LPG ให้เกิดเสถียรภาพ มติ กบง. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 จึงได้วางกรอบสำคัญไว้ คือ กำหนดให้บัญชี LPG ของกองทุนน้ำมันฯ สามารถติดลบได้ไม่เกิน 3,000 ล้านบาท และขอความร่วมมือ ปตท. งดส่งออก LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ยกเว้นมีความจำเป็นทางเทคนิค เช่น การ Shut-Down และการบำรุงรักษาของหน่วยที่รับก๊าซ LPG เป็นต้น ซึ่งในการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 61 ได้พิจารณาเพิ่มเติม ให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ในกรณีที่จะมีการส่งออกด้วย โดยจะมีการนำเสนอในการประชุม กพช. พิจารณาต่อไป
- โดยที่ประชุม กบง. รับทราบสถิติ 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2561 พบว่า ปริมาณการนำเข้าเฉลี่ย 42,120 ตัน/เดือน ขณะที่ปริมาณส่งออก LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 22,876 ตัน/เดือน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศจะสูงกว่าการผลิตในประเทศอยู่ประมาณ 20,000 ตัน/เดือน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การนำเข้ามีปริมาณมากเกินความต้องการจึงไม่น่าจะเกิดปัญหาการขาดแคลนขึ้น ที่ประชุมเห็นว่าควรเพิ่มระดับการแข่งขันของตลาดในประเทศโดยให้โรงแยกก๊าซฯ และโรงกลั่นน้ำมันลดการส่งอออกและให้มุ่งเน้นการแข่งขันจำหน่าย LPG ให้ตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น
- นอกจากนี้ กบง. ได้เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ราคานำเข้าและราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่น จากเดิมที่เปลี่ยนแปลงเป็นรายสัปดาห์ เป็นเปลี่ยนแปลงทุกสองสัปดาห์แทน โดยใช้ค่าเฉลี่ยย้อนหลังสองสัปดาห์ก่อนหน้าในการคำนวณค่าที่จะใช้ในสองสัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป