- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 17 July 2018 19:02
- Hits: 5288
สงครามการค้าและอุปทานน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกดดันต่อราคาอย่างต่อเนื่อง
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 68 - 73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 72 - 77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (16 – 20 ก.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง หลังสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนที่มีมูลค่าราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการกลับมาของท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ Zueitina และ Hariga ที่ลิเบีย รวมถึง กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกและรัสเซียที่คาดจะปรับเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบีย ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากประเทศเวเนซุเอลาและอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์นี้มีแนวโน้มที่จะปรับลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ที่แคนาดายังคงปิดซ่อมบำรุงอยู่ และคาดจะกลับมาดำเนินการในระดับเดิมอีกครั้งภายในเดือน ก.ย. 61
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
แรงกดดันในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นและมีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน หลังนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งคาดจะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนสิงหาคมนี้ ล่าสุดทางจีนออกมาตอบโต้ว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่จีนรับไม่ได้และเตรียมออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ในเร็วนี้ โดยก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้มีการเก็บภาษีสินค้าไม่ว่าจะเป็นเหล็กและอลูมิเนียม รวมไปถึงสินค้าไฮเทคมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม และทางจีนได้มีการตอบโต้โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯกว่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียคาดจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ Zueitina และ Hariga ได้กลับมาทำการตามปกติอีกครั้ง หลังได้มีการประกาศเหตุสุดวิสัยในวันที่ 14 มิ.ย. 61 จากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มติดอาวุธและกองกำลังทหารในกองทัพแห่งชาติของลิเบีย ซึ่งการกลับมาของท่าเรือส่งออกน้ำมัน Zueitina และ Hariga ทำให้กำลังการส่งออกน้ำมันดิบจากลิเบียกลับมาที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน อีกครั้ง จากเดิมที่หายไปกว่า 800,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ท่าเรือส่งออกน้ำมัน Ras Lanuf และ Es Sider ได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก จึงต้องมีการปิดซ่อมบำรุงไปอีกระยะหนึ่ง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากโอเปกและนอกโอเปกคาดจะปรับเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มผู้ผลิตตกลงที่เพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือน ก.ค. 61 เป็นต้นไป เพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอลา ล่าสุดซาอุดิอาระเบียได้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. ขึ้นกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้าและมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นหากภาวะอุปทานน้ำมันดิบยังคงตึงตัวต่อเนื่อง ขณะที่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เผยว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวันขึ้นไปสู่ระดับ 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นปี 61 และรัสเซียก็ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตไปเหนือระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน
รายงานล่าสุดจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) คงการคาดการณ์ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในปี 2561 ที่ 10.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยการผลิตของเดือน ม.ค. 61 ที่ผ่านมากว่า 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ EIA ยังได้ยกระดับปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ในปี 2562 สู่ระดับ 11.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่า 40,000 บาร์เรลต่อวันจากการคาดการณ์ในเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดกลับมากังวลในเรื่องของอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ อีกครั้ง รวมถึง ปริมาณแท่นขุดเจาะที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดของปีนี้อีกครั้ง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง จากการที่ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดาที่มีทิศทางปรับลดลง จากการปิดดำเนินการของแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ซึ่งมีกำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน โดยคาดจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติอย่างเร็วที่สุดในเดือน ก.ย. ซึ่งช้ากว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้ในเดือน ก.ค. 61 ส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากแคนาดาคาดจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ค. ปรับลดลง 12.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.5 ล้านบาร์เรล
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ GDP ไตรมาส 2 ของจีน ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 – 13 ก.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 2.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 71.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและรัสเซียที่ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้ปะทุอีกครั้ง หลังสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนอีกครั้ง ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลว่าอุปสงค์น้ำมันดิบอาจปรับตัวลดลงในอนาคต จึงมีการเทขายทำกำไร
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2561