- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 09 July 2018 20:26
- Hits: 4168
สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์ที่ 2-6 ก.ค. 61 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 9-13 ก.ค. 61
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 77.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 83.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 87.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
§ ประธานาธิบดีอิหร่านประกาศจะสกัดกั้นเส้นทางการขนส่งน้ำมันดิบ อาทิ ปิดช่องแคบฮอร์มุส (ปริมาณการขนส่ง 18 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่เดินหน้ากดดันประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านโดยตั้งเป้าให้ยกเลิกการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านทั้งหมด ในวันที่ 4 พ.ย. 61 ทั้งนี้ผู้นำสูงสุดอิหร่านระบุว่าหากอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบไม่ได้ กองกำลังพิทักษ์อิสลามของอิหร่าน (Iran Revolutionary Guard) จะทำให้การส่งออกน้ำมันดิบของชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในอ่าวเปอร์เซียยุติลงเช่นกัน
§ National Oil Corp(NOC) ของลิเบียประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ส่งมอบน้ำมันจากท่า Zueitina (ปริมาณการส่งออก 150,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Hariga (ปริมาณการส่งออก 110,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 2 ก.ค. 61 เนื่องจากความขัดแย้งในประเทศระหว่างรัฐบาลลิเบียที่เมือง Tripoli ซึ่งนานาชาติให้การรับรองสถานะกับฝ่ายต่อต้าน
§ บริษัท PDVSA ของเวเนซุเอลารายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบมายังอินเดีย ครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2561 ลดลงจากปีก่อน 21% อยู่ที่ระดับ 280,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปัญหาการผลิตน้ำมันในประเทศลดลง ประกอบกับการส่งออกน้ำมันล่าช้า อนึ่งโรงกลั่นในอินเดียอยู่ระหว่างการปรับแผนจัดหาน้ำมันดิบทดแทนอุปทานน้ำมันจากเวเนซุเอลา อีกทั้งอุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านที่จะหายไปตามนโยบายของรัฐบาลอินเดียที่จะปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
§ Intercontinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบ ICE Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่กรุงลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Positon) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4,170 สัญญา มาอยู่ที่ 457,388 สัญญา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
§ ประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐฯ กล่าวผ่านทาง Twitter ว่า ได้มีการสนทนาทางโทรศัพท์กับพระราชาธิบดี Salman bin Abdulaziz Al Saud แห่งซาอุดิอาระเบีย เพื่อขอให้ซาอุฯ ผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม 2 ล้านบาร์เรลต่อวันเพื่อแก้ไขภาวะน้ำมันดิบขาดตลาดซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงเกินควร อย่างไรก็ดี นาย Gary Ross หัวหน้านักวิเคราะห์ ของ S&P Global ระบุว่าซาอุดิอาระเบียมีกำลังการผลิตสุงสุดที่ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน
§ Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียเดือน มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 458,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 10.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 407,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 7.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน
§ กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 11.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน เม.ย. 60
§ Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5 แท่น มาอยู่ที่ 863 แท่น
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลง จากซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น และส่งออกเพิ่มขึ้น อีกทั้งนักลงทุนกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจทำให้อุปสงค์น้ำมันโลกชะลอตัว หลังทั้งสองฝ่ายต่างเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่า 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น หลังจากหน่วยผลิต Syncrude (กำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน) ในแคนาดาหยุดดำเนินการ กดดันให้ระดับปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ ที่คลัง Cushing ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบที่ซื้อขายในตลาด NYMEX ในสัปดาห์สิ้นสุด 29 มิ.ย. 61 ลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3.5 ปี อยู่ที่ 27.78 ล้านบาร์เรล
อีกทั้ง Reuters รายงานเกาหลีใต้มีแผนระงับการนำเข้าน้ำมันดิบ และ Condensate จากอิหร่านเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี เนื่องจากถูกสหรัฐฯ กดดัน เช่นเดียวกับจีน และญี่ปุ่น ที่อยู่ระหว่างการเจรจาขอให้สหรัฐฯ ยกเว้นมาตรการคว่ำบาตรต่อการค้าน้ำมันดิบกับอิหร่าน ให้จับตามองความวุ่นวายในลิเบีย โดยประธานบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Corp.: NOC) ที่อยู่ใน Tripoli นาย Mustafa Sanalla ออกจดหมายเวียนไปยังสถานทูตของประเทศต่างๆ และสหประชาชาติ (United Nations: U.N.) เรียกร้องให้ลงโทษคว่ำบาตร ต่อบุคคลและนิติบุคคล 48 ราย อาทิผู้บริหารของ NOC ใน Benghazi นาย Faraj Said และเจ้าหน้าที่
รวมทั้งผู้ค้าน้ำมัน และบริษัทพลังงาน ที่ซื้อขายน้ำมันโดยไม่ชอบธรรม โดยห้ามการเดินทาง และอายัดทรัพย์สิน มิฉะนั้น จะมีผลร้ายแรงต่อความมั่นคง และสันติภาพในลิเบีย ทั้งนี้ท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ 4 แห่ง หยุดดำเนินการ ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของประเทศล่าสุดอยู่ 180,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือน มิ.ย. 61 ที่ 680,000 บาร์เรลต่อวัน และจากระดับกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ม.ค. 61 นักวิเคราะห์ประเมินว่าลิเบียสูญเสียรายได้อย่างน้อย 821 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับตั้งแต่ท่าส่งออกหยุดดำเนินการ และกำลังสูญเสียรายได้กว่า 67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน ด้านเทคนิคราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.5-79.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 71.5-75.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.5-76.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของ อินโดนีเซียศรีลังกา และโมซัมบิกประกอบกับ PetroChina ของจีนส่งออกน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 300,000 บาร์เรล จากเมือง Guangxi ไปยังเมือง Vancouver ในแคนาดา เป็นครั้งแรก ส่งมอบ 20 มิ.ย. 61 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ก.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 130,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.06 ล้านบาร์เรล ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 8 เดือน
อย่างไรก็ตาม โรงกลั่น Kawasaki ในญี่ปุ่นของบริษัท JXTG Nippon Oil & Energy กลับมาเดินเครื่อง Crude Distillation Unit (CDU: กำลังการกลั่น 170,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 2 ก.ค. 61 หลังจากปิดซ่อมบำรุง ตั้งแต่ 7 เม.ย.61 และโรงกลั่น Shymkent (กำลังการกลั่น 160,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Petro Kazakhstan ในคาซัคสถานเริ่มเดินเครื่อง Residue Fluid Catalytic Converter หรือ RFCC (กำลังการกลั่น 35,000 บาร์เรลต่อวัน ) ที่เพิ่งติดตั้งเพื่อผลิตน้ำมันเบนซินป้อนตลาดในประเทศ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82.0-86.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของศรีลังกา และ โมซัมบิกซึ่งออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.005%S ปริมาณ 5 ล้านบาร์เรล ส่งมอบครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2561 ประกอบกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน พ.ค. 61 ลดลงจากปีก่อน 23.2% มาอยู่ที่ 116,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามอุปสงค์น้ำมันดีเซลในเอเชียเบาบาง เพราะจีนห้ามทำการประมงช่วงฤดูวางไข่ และผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าในอินเดียซึ่งอยู่ในฤดูมรสุมใช้พลังน้ำแทนน้ำมัน
อีกทั้ง โรงกลั่นในภูมิภาคกลับมาดำเนินการ หลังสิ้นสุดการปิดซ่อมบำรุง ทำให้ปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลในเอเชียอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการเก็บน้ำมันดีเซลในเรือลอยลำกลางทะเล (Floating Storage) เพิ่มขึ้น ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 360,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.51 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 85.5-89.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล