- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 23 June 2018 23:21
- Hits: 8880
แบตเตอรี่ กักเก็บพลังงาน มิติใหม่การบริหารระบบไฟฟ้า กฟผ. Energy 4.0
ด้วยทิศทางการพัฒนาพลังงานของไทย ที่มีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ถูกลง ทำให้มีการเติบโตของการใช้พลังงานพลังงานหมุนเวียน ทั้งการผลิตใช้เอง และการผลิตในระบบไฟฟ้า แต่เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องตามความต้องการไฟฟ้าตลอดเวลาทำให้ ‘ระบบกักเก็บพลังงาน’ กลายเป็น ‘กุญแจดอกสำคัญ’ ที่จะเข้ามาช่วยอุดช่องว่างดังกล่าว
แบตเตอรี่ ทำอะไรได้บ้าง?
การกักเก็บพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. ในอดีตถึงปัจจุบัน จะใช้โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ที่ใช้พลังน้ำทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานมีติดตั้งอยู่ตามเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ 1,031 เมกะวัตต์ อันได้แก่
1. เขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 4 -5 กำลังผลิตรวม 360 เมกะวัตต์
2. เขื่อนภูมิพล เครื่องที่ 8 กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์
3. โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เครื่องที่ 1-2 กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ แล้ว กฟผ. จะเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบสูบกลับเพิ่มขึ้นอีก 2,100 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งคือโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เครื่องที่ 3-4 จะเข้าระบบปลายปี 2561 ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างทดสอบการขนานเครื่อง
อย่างไรก็ดี โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับมีข้อจำกัดที่ต้องใช้พื้นที่ที่เหมาะสม และการลงทุนสูง การเข้ามาของ ‘แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน’ หรือ Battery Energy Storage จึงนับว่ามีความสำคัญ และสอดคล้องกับในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพราะแบตเตอรี่ ใช้พื้นที่น้อยกว่า และสามารถติดตั้งได้ทั้งในบริเวณจุดจ่ายไฟฟ้า จุดผลิต และส่งไฟฟ้า ตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่หลากหลาย ได้แก่
1. ช่วยลดความผันผวนของพลังงานทดแทน และจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เสถียร หรือที่เรียกว่า การ Smoothing
2. เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานในช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ และจ่ายไฟฟ้าในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง (Energy Shifting)
3. ช่วยควบคุม และรักษาความถี่ของไฟฟ้าให้อยู่ในเกณฑ์ (Frequency Regulation)
4. ช่วยจัดการความหนาแน่นของระบบส่ง (Congestion Management) หรืออาจกล่าวง่ายๆ ได้ว่าช่วยบริหารจัดการสายส่งให้สามารถนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้ศึกษา และจะเริ่มนำระบบกักเก็บพลังงานโดยแบตเตอรี่มาใช้ในระบบไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะในจุดผลิต และส่งจ่ายไฟฟ้า ประกอบด้วย 3 โครงการ ที่ได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว คือ
1. โครงการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน กำลังไฟฟ้า 4 เมกะวัตต์ (ความจุ 1 MWh) ที่ช่วยจ่ายไฟฟ้าเลี้ยงระบบไฟฟ้าของแม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัดได้นาน 15 นาที
โครงการนี้จะติดตั้งอยู่ข้างกับโครงการเซลล์แสงอาทิตย์ที่จะติดตั้งในพื้นที่เพิ่มอีก 3 เมกะวัตต์ (รวมกำลังการผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์ในพื้นที่ทั้งหมดเป็น 3.5 เมกะวัตต์) โดยการเลือกติดตั้งใน จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่มีสายส่งแรงสูงรองรับ ทำให้เกิดไฟตก ไฟดับบ่อยครั้ง
นอกจากนี้ แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานดังกล่าวจะทำงานร่วมกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือสมาร์ทกริด ที่ กฟผ. จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาช่วยจัดการไฟฟ้าในพื้นที่ให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพ ที่ประเมินว่า เมื่อแล้วเสร็จโครงการในเดือนมีนาคม 2562 จะช่วยลดเวลาในการเกิดไฟดับเหลือน้อยกว่า 500 นาที/ปี จากเดิมที่สูงถึง 2,614 นาที/ปี
2. สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (16 MWh)
3. สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (21 MWh)
สำหรับ การติดตั้งแบตเตอรี่อีก 2 โครงการของ กฟผ. นั้น จะติดตั้งอยู่ในบริเวณของสถานีไฟฟ้าแรงสูงในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ซึ่งสาเหตุที่เลือกพื้นที่ดังกล่าวนั้น เนื่องจากว่า เป็นพื้นที่ที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ ในปี 2563 ประเมินว่า จ.ชัยภูมิ จะมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 218.2 เมกะวัตต์ ส่วน จ.ลพบุรี จะมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ 301.2 เมกะวัตต์
จากแนวโน้มของราคาแบตเตอรี่ที่ลดลง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้มี ประสิทธิภาพสูงขึ้น การนำแบตเตอรี่สำรองเข้ามาในระบบไฟฟ้า จึงนับเป็นโอกาสดี ในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยมีระดับราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม
Click Donate Support Web