- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 15 June 2018 19:29
- Hits: 4519
ราคาน้ำมันดิบปรับผันผวน จากความไม่แน่นอนของการประชุมกลุ่มโอเปกในสัปดาห์หน้า
-ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการประชุมของกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกในสัปดาห์หน้า ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซียกล่าวว่ากลุ่มผู้ผลิตมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 61 เพื่อชดเชยอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากประเทศเวเนซุเอลาและอิหร่าน
- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจนถึงกลางปีหน้า ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00% และคาดจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มอีก 2 ครั้งภายในปีนี้
+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มิ.ย. ปรับลดลงกว่า 4.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ เพิ่มการกลั่นขึ้นกว่าร้อยละ 5.3 จากสัปดาห์ก่อนหน้าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 17.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นในช่วงฤดูร้อน รวมถึงปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์ที่ปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ราคายังคงถูกกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลงและอุปทานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้น้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม น้ำมันดีเซลคงคลังทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาท่าทีของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเกี่ยวกับมาตรการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน หลังมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้ผลิตอาจเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา โดยจะมีการหารือในการประชุมของกลุ่มโอเปกวันที่ 22-23 มิ.ย. นี้
กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบยืนอยู่เหนือต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของสหรัฐฯ
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย. 61 แตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เท็กซัสสูงกว่า 11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
Click Donate Support Web