- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 11 September 2014 12:29
- Hits: 2790
เบรนท์ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน เหตุอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด ขณะเวสเท็กซัสเพิ่มหลังตลาดคาดสต็อกน้ำมันลด
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน เนื่องจากความกังวลด้านอุปทานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Buzzard บริเวณทะเลเหนือ ซึ่งมีกำลังการผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินอีกครั้ง ภายหลังจากที่มีการปิดซ่อมบำรุงไปเมื่อปลายเดือน
ส.ค. 57 ที่ผ่านมา
- นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบในลิเบียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 740,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 725,000 บาร์เรลต่อวัน ภายหลังเหตุการณ์ประท้วงภายในประเทศเริ่มคลี่คลายลงส่งผลให้ท่าเรือส่งออกหลายแห่งสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง
+ ราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัสปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่จะรายงานโดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ในคืนวันพุธว่าจะปรับตัวลดลงกว่า 1.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการนำเข้าที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+ ท่อส่งน้ำมันดิบ Pony Express ที่มีการขนส่งน้ำมันดิบจาก Wyoming ไปยัง โอกลาโฮมาเป็นระยะทางกว่า 260 ไมล์ ยังคงไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ภายหลังเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิค โดยล่าสุดมีการประมาณการณ์ว่าท่อส่งน้ำมันดิบดังกล่าวจะสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติในช่วงเดือน พ.ย. ซึ่งล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ในเดือน ส.ค. ทั้งนี้ การกลับมาดำเนินการที่ล่าช้ากว่าแผนอาจส่งผลให้ระดับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบโอกลาโฮมาจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป
+ รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน ก.ย. ของสำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ มีการปรับเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันในปี 2557 จากระดับ 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่อัตราการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันปี 2558 มีการปรับเพิ่มจากระดับ 0.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มราคาน้ำมันเบนซินที่ตลาดสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงอันเป็นผลจากปริมาณอุปสงค์ที่ลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวอย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเบนซินยังคงอยู่ในกรอบที่จำกัดเนื่องจากปริมาณอุปสงค์ในภูมิภาคที่ยังคงแข็งแกร่ง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากอินโดนีเซียเพื่อรองรับความต้องการในช่วงการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงเดือน ก.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดโดยรวมยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณอุปทานที่ล้นตลาดและอุปสงค์ที่อ่อนแรงจากประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น อินเดียและซาอุดิอาระเบีย
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 92-98 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 100 - 105 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซีย ว่าข้อตกลงหยุดยิงจะประสบผลสำเร็จจริงหรือไม่ แม้ผู้นำทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงถาวรร่วมกันแล้วก็ตาม แต่ฝ่ายรัสเซียยีงคงออกมาค้านว่ารัสเซียไม่สามารถทำข้อตกลงหยุดยิงอย่างเป็นรูปธรรมได้ เพราะรัสเซียไม่ได้เป็นฝ่ายที่มีส่วนในความขัดแย้งครั้งนี้
ติดตามเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซน ภายหลังอีซีบีออกมาตรการเพิ่มเติมในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว มาตรการนี้จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ และอุปสงค์การใช้น้ำมันในภูมิภาคจะกลับมามากเพียงใด
ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน ก.ย. ของสำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (9 ก.ย.) โอเปก (10 ก.ย.) และสำนักงานพลังงานสากล (11 ก.ย.) ที่คาดว่าอาจมีการปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปีนี้ลง หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศผู้บริโภคน้ำมันหลายประเทศ
จับตากลุ่ม OPEC ว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการจัดการกับอุปทานที่ล้นตลาดขณะนี้ หลังล่าสุดลิเบียผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ราว740,000 บาร์เรลต่อวันแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศก็ตาม