- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 04 June 2018 19:50
- Hits: 4038
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 4 -8 มิ.ย. 61 และสรุปสถานการณ์ 28 พ.ค. - 1 มิ.ย. 61
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 4 – 8 มิ.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบคาดจะเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเพื่อรองรับอุปทานน้ำมันดิบที่อาจขาดหายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอลาในการประชุมโอเปกวันที่ 22 มิ.ย. นี้ รวมถึง ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและการส่งออกของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากตลาดน้ำมันดิบที่ยังคงตึงตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากอุปทานน้ำมันดิบของอิหร่านและเวเนซุเอลาที่มีแนวโน้มปรับลดลงและปริมาณน้ำมันคงคลังทั่วโลกที่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาความคืบหน้าระหว่างกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกว่าจะมีมาตรการปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับอุปทานที่ขาดหายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอลาหรือไม่ จากการประชุมล่าสุดระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซียคาดจะมีการทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้กลุ่มผู้ผลิตจะมีการทบทวนมาตรการดังกล่าวในการประชุมโอเปกในวันที่ 22 มิ.ย. นี้ว่าจะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตในระดับเท่าไหร่ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่ากลุ่มโอเปกอาจเพิ่มกำลังการผลิตราว 0.3 – 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น เนื่องจากยังคงต้องการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันให้ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังสหรัฐฯ ได้เพิ่มการขุดเจาะในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่สูงเหนือระดับต้นทุนการผลิต โดยจำนวนแท่นขุดเจาะในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ 861 แท่น นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ได้ปรับเปลี่ยนการคาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ที่ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวันในปลายปีนี้ มาเป็นเร็วขึ้นในไตรมาส 4 ของปีนี้
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านคาดจะปรับลดลงในเร็วนี้ หลังสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์และประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านลงก่อนที่มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ จะมีผลบังใช้ในวันที่ 4 พ.ย. ล่าสุดบริษัท Reliance ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศอินเดียเตรียมหยุดนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป จากเดิมที่มีการนำเข้าโดยเฉลี่ยราว 100,000 บาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน พ.ค. ปรับลดลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของโรงกลั่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการขับขี่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 3.6 ล้านบาร์เรลสำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ค.เนื่องจากการใช้อัตรากำลังการผลิตที่แข็งแกร่ง เปรียบเทียบกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ว่าจะปรับลดลง 525,000 บาร์เรล
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ ดัชนีภาคการบริการยูโรโซน และดัชนีภาคการบริการจีน และดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 พ.ค. – 1 มิ.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 2.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากการประชุมระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ที่มีการหารือว่ากลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกอาจปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับอุปทานที่ขาดหายไปจากประเทศเวเนซุเอลาและอิหร่าน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงราว 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดิบยังคงอยู่ในสภาวะตึงตัวจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก โดยในเดือน เม.ย. 61 ที่ผ่านมาได้ทำการปรับลดไปกว่า 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นร้อยละ 166 ของปริมาณที่ตกลงเอาไว้