- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 28 May 2018 19:14
- Hits: 5476
กังวลโอเปกเพิ่มกำลังการผลิต ฉุดราคาน้ำมันลงกว่า 4 เปอร์เซ็นต์
- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงมากกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล หลังตลาดเผชิญกับการเทขายทำกำไรจากความกังวลว่าซาอุดิอาระเบียและรัสเซียอาจเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับอุปทานที่หายไปจากเวเนซุเอลาและอิหร่าน โดยจากการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของทั้งสองประเทศที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ได้มีแนวคิดที่จะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในประชุมโอเปกในวันที่ 22 มิ.ย. 61
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงราว 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวันและมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาสสุดท้ายของปี หลังราคาน้ำมันดิบยังคงสูงกว่าต้นทุนการผลิต โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณแท่นขุดเจาะ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ค. เพิ่มขึ้นมากถึง 15 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 859 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่มากสุดในรอบ 3 ปี
+ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ม.ค. 60 หลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ นอกจากนี้ เวเนซุเอลายังคงเผชิญกับแรงกดดันที่มากขึ้น หลังสหรัฐฯ เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินต่อเวเนซุเอลา เพื่อกดดันรัฐบาลหลังในวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา Nicolás Maduro ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงเท่ากับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นและอุปทานที่คาดจะตึงตัวขึ้นจากการลดกำลังการกลั่นของโรงกลั่นจีน อย่างไรก็ตาม ราคายังคงถูกกดดันจากน้ำมันเบนซินคงคลังทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ยังคงเติบโตในระดับสูงต่อเนื่อง
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 68-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกว่าจะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับอุปทานที่ตึงตัวหรือไม่ หลังปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วปรับลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับเหนือค่าเฉลี่ย 5 ปี เพียงแค่ 9 ล้านบาร์เรล รวมถึงอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นจากเวเนซุเอลาที่กำลังการผลิตปรับลดลงต่อเนื่อง และอิหร่านที่เผชิญกับการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันโลกที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดลงกำลังการผลิต
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวเหนือระดับต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตในสหรัฐฯ ส่งผลให้จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
Click Donate Support Web