- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 18 May 2018 21:17
- Hits: 14759
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดทรงตัว หลังค่าเงินสหรัฐฯ พุ่งสูงสุดในรอบ 4 เดือน
+/- ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดทรงตัว หลังดัชนีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น กดดันให้สินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันดิบมีราคาแพงเมื่อซื้อขายด้วยสกุลเงินอื่น ประกอบกับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่ออุปทานที่อาจปรับลดลงเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ
- ดัชนีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน หลังผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ (10 ปี) พุ่งแตะระดับร้อยละ 3.122 เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ขับเคลื่อนโดยภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 61
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 10.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยการส่งออกน้ำมันดิบมายังทวีปเอเชียปรับตัวขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราว 25 ล้านบาร์เรลในเดือน พ.ค. 61
+ ตลาดยังคงได้รับอานิสงส์จากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลต่อมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งการคว่ำบาตรดังกล่าวอาจส่งผลกดดันให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับลดลงกว่า 300,000 - 500,000 บาร์เรลต่อวัน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซีย ประกอบกับตลาดได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานในภูมิภาคเอเชียที่ปรับลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบของโรงกลั่นในญี่ปุ่น
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานที่ปรับลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาลของโรงกลั่นในเอเชีย ในขณะที่อุปสงค์ยังคงทรงตัวได้ในระดับดี
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 69-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 76-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาผลกระทบจากการถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้งปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันโลกที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดลงกำลังการผลิต
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวเหนือระดับต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตในสหรัฐฯ ส่งผลให้จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง