WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1AAPTTEP

พลังงานยิ้มประมูลปิโตรเลียมคึก 6 เอกชนแห่ยื่น/เชฟรอนมั่นใจชนะ PTTEP-เชฟรอน-มูบาดาลาฯ-โอเอ็มวีฯ-โททาล-

      ไทยโพสต์ : วิภาวดีรังสิต * ประมูลปิโตรฯ คึกคัก 6 เอกชนยักษ์ ยื่นแสดงความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติ หลายรายมั่นใจต้องผ่านเกณฑ์ เชฟรอนฟุ้งชนะประมูลแน่

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.09 น. ของวันที่ 4 พ.ค.2561 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เข้ายื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงในการเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ในการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุหมายเลข G1/61 (เอรา วัณ) และ G2/61 (บงกช) ภายใต้ทีโออาร์การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ตามด้วยบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัทยื่นความจำนงที่จะเข้าร่วมประมูลทั้ง 2 แหล่ง

     นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอน กล่าวว่า มีความมั่นใจว่าบริษัทจะชนะการประมูลด้วยประสบการณ์ในประเทศไทยกว่า 30 ปี และมีเทคโนโลยีทั่วโลกจะช่วยทำให้ต้นทุนต่ำแข่งขันได้ตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด ทั้งเรื่องราคาก๊าซที่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน และปริมาณกำลังผลิตขั้นต่ำที่กำหนด 10 ปีใน 2 แหล่งรวมกัน กำลังผลิตจะไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งในส่วน ของวงเงินลงทุนที่ต้องแสดงคุณ สมบัติ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น บริษัทแม่ คือ เชฟรอนสหรัฐพร้อมสนับสนุน ส่วนจะร่วมทุนกับรายใด ยังมีระยะเวลาตัดสินใจศึกษาข้อมูลจากทีโออาร์ ก่อนวันยื่นข้อเสนอ 25 ก.ย.นี้

     ด้าน นายราเชด อัล บลูชิ กรรมการผู้จัดการ มูบาดาลา กล่าวว่า บริษัทจริงจังกับการประมูลครั้งนี้ และมั่นใจว่ามีพร้อมทั้งมีวงเงินประมูลและประสบการณ์ที่มีการลงทุนมาทั่วโลก ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการแข่งขันครั้งนี้ รวมทั้งมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย แต่จะยื่นประมูลร่วมกับรายอื่นหรือไม่นั้น ขอศึกษาข้อมูลทั้งหมดเสียก่อน

     ขณะที่ในเวลาต่อมา บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์, บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท และกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 เข้า ร่วมยื่นความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติในการประมูลด้วย ส่ง ผลให้ในวันที่ 4 พ.ค.61 มีเอกชน ที่ยื่นความจำนงกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 6 ราย.

PTTEP-เชฟรอน-มูบาดาลาฯ-โอเอ็มวีฯ-โททาล-กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาดฯ ยื่นเจตจำนงร่วมพิจารณาคุณสมบัติประมูลบงกช-เอราวัณ

      นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า วันนี้กรมเชื้อเพลิงฯ ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) ตามทีโออาร์การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) เข้ายื่นแสดงความจำนงเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยมีบริษัทเข้ามายื่นเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น จำนวน 6 บริษัท

    ประกอบด้วย บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) , บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ,บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท ,บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด และ กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber gruop

     สำหรับ ขั้นตอนต่อไป บริษัทที่เข้ามายื่นเอกสารแสดงความจำนงดังกล่าว จะต้องนำเอกสารหลักฐานที่แสดงคุณสมบัติเบื้องต้นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ มายื่นให้กรมเชื้อเพลิงฯในระหว่างวันที่ 15-16 พ.ค.61 ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 10 วัน และจะประกาศผลผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 28 พ.ค.61

     ทั้งนี้ การประมูลครั้งนี้นับว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้ประกอบการสนใจที่จะยื่นประมูลข้ามแหล่ง โดยไม่ได้ยึดติดเฉพาะแหล่งที่เป็นผู้ดำเนินการ (operator) โดยคาดว่าการลงทุนใน 2 แหล่งดังกล่าวภายหลังหมดอายุสัมปทาน คาดว่าจะมีเม็ดเงินรวม 1.2 ล้านล้านบาทในช่วงเวลา 10 ปี ซึ่งจะสร้างรายได้แก่ประเทศราว 2.1 ล้านล้านบาท และสร้างกำไร 9 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้คาดจะเป็นรายได้ของรัฐไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท และที่สำคัญเงื่อนไขการประมูลที่กำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ 10 ปี การให้น้ำหนัก 65% จากการพิจารณาราคาก๊าซธรรมชาติ ที่จะต้องไม่สูงเกินจากราคาปัจจุบัน ยังทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานและต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ ก็จะเป็นผลดีต่อประชาชนด้วย

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้ามีผู้ประกอบการ 3 รายเดินทางมายื่นแสดงเจตจำนงเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติทั้ง 2 แหล่ง ได้แก่ PTTEP ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานแหล่งบงกช ในปัจจุบัน , เชฟรอนฯ ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ ในปัจจุบัน และมูบาดาลาฯ จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ต่อมาในช่วงบ่าย มีผู้ประกอบการอีก 3 รายเข้ามายื่นแสดงเจตจำนง ได้แก่ บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท,บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด และกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber gruop

     ทั้งนี้ ตามกำหนดเวลาทุกรายต้องยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 15-16 พ.ค.61 ,ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 28 พ.ค.61 และผู้มีคุณสมบัติจัดเตรียมการยื่นข้อเสนอวันที่ 7 มิ.ย.-21 ก.ย.61 และให้ยื่นข้อเสนอการประมูลในวันที่ 25 ก.ย.61 ขณะที่คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลในเดือน ธ.ค.61 และลงนามในสัญญา เดือน ก.พ.62

     ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าจะชนะการประมูลครั้งนี้ เนื่องจากมีประสบการณ์ในประเทศไทยกว่า 30 ปีและมีเทคโนโลยีทั่วโลก จะช่วยทำให้มีต้นทุนต่ำสามารถแข่งขันได้ ตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด ทั้งเรื่องราคาก๊าซฯที่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน และปริมาณกำลังผลิตขั้นต่ำที่กำหนด 10 ปีใน 2 แหล่งรวมกันกำลังผลิตจะไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วัน แยกเป็นแปลงหมายเลข G1/61 ปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และ G2/61 ปริมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

    ส่วนเชฟรอนฯจะยื่นประมูลทั้ง 2 แหล่ง หรือจะร่วมทุนกับรายใดเข้าประมูล โดยเฉพาะ PTTEP หรือไม่นั้น ในขั้นตอนเหล่านี้ ยังมีระยะเวลาตัดสินใจ ศึกษาข้อมูลจาก TOR , การเข้าดูข้อมูลก่อนจะตัดสินใจก่อนยื่นข้อเสนอในวันที่ 25 ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตามหากเชฟรอนฯไม่ชนะการประมูลครั้งนี้ ก็จะยังลงทุนในประเทศไทยต่อไปเพราะยังมีแหล่งอื่น ๆ ที่มีสัญญาผลิตต่อเนื่อง

    ปัจจุบันเชฟรอนฯผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งในไทย รวม 1,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มาจากแหล่งเอราวัณ ราว 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ,ผลิตคอนเดนเสท 5-6 หมื่นบาร์เรล/วัน ,ผลิตน้ำมัน 5-6 หมื่นบาร์เรล/วัน มีพนักงานเป็นคนไทยถึง 90% จากพนักงานประจำ 1,600 คน และ พนักงานที่จ้างบริการ 1,000 คน

    ด้านนายราเชด อัล บลูชิ กรรมการผู้จัดการ ของมูบาดาลาฯ กล่าวว่า บริษัทมีวงเงินที่จะเข้าร่วมประมูล และกลุ่มบริษัทมีประสบการณ์การลงทุนทั่วโลก โดยมีบริษัทแม่ คือ Mubadala Investment Company (MIC) เป็นบริษัทกองทุนเชิงกลยุทธ์ของยูเออี ซึ่งมีรัฐบาลอาบูดาบีถือหุ้นทั้งหมด ซึ่งมีความเข้มแข็งทางด้านการเงิน จึงมั่นใจว่าจะเป็นยุทธศาตร์ในการแข่งขันประมูลครั้งนี้ รวมทั้งมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย ส่วนการยื่นประมูลจะเป็นการร่วมทุนกับรายใดหรือไม่นั้น ต้องขอศึกษาข้อมูลทั้งหมดก่อน

     ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังผลิตน้ำมันดิบในไทยประมาณ 3 หมื่นบาร์เรล/วัน ใน 3 แหล่ง ประกอบด้วย แหล่งมโนราห์ แหล่งนงเยาว์ และแหล่งจัสมิน

     ด้านนายยุทธ เพียรดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลังงานสะอาด 101 จำกัด กล่าวว่า บริษัทสนใจร่วมประมูลทั้งแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งได้ร่วมกับพันธมิตร จัดตั้ง "กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101" ซึ่งร่วมกับบริษัท Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group จากจีน และ AL Jaber group จากยูเออี โดยบริษัทถือหุ้นสัดส่วน 35% , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group ถือหุ้น 50% และ AL Jaber group ถือหุ้น 15%

            อย่างไรก็ตามบริษัทพร้อมแข่งขันด้านราคาก๊าซฯกับคู่แข่ง และมั่นใจว่าจะชนะการประมูล เนื่องจากบริษัท Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group จากจีน มีประสบการณ์ด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ขณะที่ AL Jaber group มีเงินทุนจำนวนมาก

มูบาดาลา-เชฟรอน-มิตซุยออยล์-โททาล-PTTEP เข้ารับเอกสารประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช

    นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ในวันนี้บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม จำกัด, บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด, บริษัท Mitsui Oil Exploration Co., Ltd., บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด และ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เข้ามารับเอกสารประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจ ในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ตามทีโออาร์การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC)

    ทั้งนี้ ทั้ง 5 บริษัทดังกล่าวจะนำเอกสารที่ได้รับไปศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับการมายื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ตามขั้นตอนต่อไป

                อินโฟเควสท์

ลุ้นชิงเอราวัณ-บงกช'ศิริ'มั่นใจ5เอกชนคุณสมบัติผ่าน/เดือนธ.ค.61รู้ผลผู้ชนะ

      ไทยโพสต์ * "ศิริ" มั่นใจ 4 พ.ค.นี้ผู้สนใจร่วมประมูลเอราวัณ-บงกช จะเข้ายื่นเอกสารตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นต่อ มั่นใจผ่านทุกราย ด้าน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติชี้ เดือน ธ.ค.61 รู้ผลผู้ชนะ พร้อมลงนามสัญญา ก.พ.62

    นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐ มนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิด เผยว่า ในวันที่ 4 พ.ค.นี้ จะมีผู้ที่ สนใจเข้าร่วมประมูลแหล่งปิโตร เลียมที่จะหมดอายุทั้งแหล่งเอราวัณ และบงกชเข้ามายื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงเพื่อให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) พิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น โดยคาดว่า 5 รายที่มารับเอกสารทั้ง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์, บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด,บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประ เทศไทย) จำกัด และบริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด จะเข้ามายื่นเอกสาร ซึ่งต้องติดตามว่าใครจะจับคู่กับใคร

    "เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนการเปิดให้มีการยื่นและสำรวจการผลิต ปิโตรเลียมรอบใหม่ หรือรอบที่ 21 นั้น ขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังไม่มีแผนที่จะดำเนินการ คงจะต้องรอระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้การดำเนินงานประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชมีความก้าวหน้าไปถึง ระดับที่มีความมั่นใจว่าจะไม่ขาดตอนในการผลิตก๊าซเพื่อไว้ใช้จาก 2 แหล่งใหญ่นี้ก่อน" รมว.พลังงานกล่าว

     นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปวันที่ 15-16 พ.ค.นี้ ผู้ลงทะเบียนจะต้องยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้น และจะมีการประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ในวันที่ 28 พ.ค.นี้ จากนั้นผู้เข้าร่วมประมูลที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นสามารถยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงในการเข้าถึงข้อมูล ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-1 มิ.ย.2561 โดยจะเปิดโอกาสให้ศึกษาข้อมูล 4 เดือน ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องวางหลักทรัพย์ค่าเข้าดูข้อมูลวงเงิน 7 ล้านบาทต่อแหล่ง

    ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและ ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ (บิดดิ้ง) ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องยื่นคำขอสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พร้อมเอกสารแสดงคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 แห่ง พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 พร้อมทั้งวางหลักทรัพย์คำขอยื่นซื้อซอง 50,000 บาทต่อแหล่ง และหลักทรัพย์ค้ำประกันคำขอ 3 ล้านบาทต่อแหล่ง ซึ่งขั้นตอนนี้จะทราบว่าผู้ประกอบการรายใดจะจับมือเป็นพันธมิตรร่วมกันเพื่อเข้าประมูล จากนั้นจะทราบผลผู้ชนะเดือน ธ.ค.2561 และจะมีการลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลเดือน ก.พ.62

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการรายเก่า ทั้งปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ประกาศพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช โดยนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนพร้อมเข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่านี่จะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้แสดงให้คนไทยเห็นว่า เชฟรอนคือพันธมิตรที่ได้รับความไว้วางใจและมีความพร้อมในการจัดหาพลังงานให้กับประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคตดังเช่นที่ผ่านมา.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!