- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 18 April 2018 14:27
- Hits: 1316
ว่าที่ CEO ใหม่ PTT หนุนต่อยอดธุรกิจถ่านหินเล็งทำโรงไฟฟ้าสร้างมูลค่าเพิ่ม ตั้งธงรุก LNG-ลุยสมาร์ทซิตี้-ลงทุน New S-Curve
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บมจ.ปตท. (PTT) และว่าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนใหม่ เปิดเผยว่า ปตท.จะยังคงเดินหน้าเพื่อต่อยอดธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่การดำเนินการนั้นยังต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลอินโดนีเซียด้วย ขณะที่ข้อพิพาทเกี่ยวกับคดีมอนทาราระหว่างกลุ่ม ปตท.กับรัฐบาลอินโดนีเซียนั้นเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ก็จะทำให้มีโอกาสเกิดการลงทุนใหม่มากขึ้นด้วย โดยปัจจุบันธุรกิจถ่านหินของ ปตท.เริ่มทำกำไรได้แล้วหลังจากราคาถ่านหินเริ่มฟื้นตัวขึ้น
"ถามว่า ปตท.จะเดินธุรกิจถ่านหินอย่างไร เราคงมีกระบวนการในการที่จะไม่ได้ขยายจำนวนเยอะมาก แต่จะสร้าง value อย่างไร ในการทำถ่านหินไปสู่ไฟฟ้าอย่างไร ในการทำถ่านหินสะอาดเป็นไฟฟ้าที่สะอาดอย่างไร จากถ่านหินแล้วออกมาเป็นไฟฟ้าที่สะอาดเลย และอาจจะไม่ได้ทำในเมืองไทยอย่างเดียว อาจจะไปทำบางแห่ง แต่ว่าเทคโนโลยีมันสามารถทำให้สะอาดและเป็นไปได้ตามสิ่งแวดล้อมแล้ว...เราเดินหน้าแต่ไม่ได้ขยายเยอะและต้องดู value ปรับสภาพให้เดินหน้าได้อย่างดี ไม่ได้ขยายจำนวน แต่ขยายในเชิงคุณภาพ"นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวถึงแผนธุรกิจถ่านหินของ ปตท.ภายหลังจากนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ PTT แสดงความเห็นส่วนตัวในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนว่า ปตท.ไม่ควรขยายธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และหากได้ราคาดีก็ควรจะพิจารณาขายธุรกิจออกไปด้วย เพราะในระยะยาวพลังงานหมุนเวียนจะเป็นเชื้อเพลิงหลักมากกว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่นับวันจะหมดลง
ปัจจุบัน กลุ่ม PTT ถือหุ้น 94.56% ในบริษัท Sakari Resources Limited (SAR) ซึ่งทำธุรกิจเหมืองถ่านหิน Sebuku และ Jembayan ในอินโดนีเซียที่มีการผลิตแล้ว และยังถือหุ้น 35% ในโครงการที่บรูไน ซึ่งได้รับสิทธิในการดำเนินการศึกษาแหล่งถ่านหิน และถือหุ้น 80% ในโครงการสำรวจแหล่งถ่านหินในมาดากัสการ์
นายชาญศิลป์ กล่าวถึงการสำรวจแหล่งถ่านหินในมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นแหล่งที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันกับแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้มีต้นทุนการดำเนินการที่สูงมากว่า การจะดำเนินการอย่างไรต้องไปนั้นต้องพิจารณาให้มีความเหมาะสมด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าจะขายแหล่งถ่านหินดังกล่าวออกไปหรือไม่
นายชาญศิลป์ กล่าวด้วยว่า ภารกิจของ ปตท.ในปัจจุบันคือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งก็จะต้องดูแลและจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อรองรับความต้องการใช้ โดยเฉพาะในภาคไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ ปตท.ก็จะให้ความสำคัญกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพราะเป็นเชื้อเพลิงสะอาด รวมถึงการเดินหน้าสร้างคลัง LNG แห่งใหม่เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ในอนาคต ตลอดจนการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 เพื่อเชื่อมโยงก๊าซฯจากฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของประเทศให้เกิดความมั่นคงในการส่งก๊าซฯไปยังโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ก็ได้เริ่มศึกษาการลงทุนใหม่ที่จะเป็น New S-Curve ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เพราะปัจจุบันแม้ว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมันจะยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หลัก แต่ก็เริ่มเห็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากเริ่มมีเชื้อเพลิงอื่นทั้งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG), ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามาทดแทน เบื้องต้นคาดว่าปลายปีนี้น่าจะมีแผนชัดเจนออกมา
ส่วนการลงทุนตามแนวคิดสมาร์ทซิตี้ของ ปตท.ในพื้นที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมนั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงคมนาคมว่าจะให้สิทธิ ปตท.เข้าไปร่วมดำเนินการหรือไม่ แต่ก็ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว หลังจากกระทรวงคมนาคมจะเปิดให้การดำเนินการสมาร์ทซิตี้บางแห่งเป็นรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnerships : PPP) ซึ่งจะต้องมีการแข่งขัน
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาปตท.ก็มีประสบการณ์ในการก่อสร้างและบริหารอาคาร ENCO ซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน (Green Building) และอาคารอัจฉริยะ (Intelligent Building) ที่มีการนำเอาเรื่องพลังงานเข้าไปบริหารจัดการ นอกจากนั้น ปตท.ก็มองโอกาสที่จะร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในการจัดทำศูนย์บริการริมทาง (roadside station) ในพื้นที่ทางหลวงพิเศษต่าง ๆ ซึ่งต้องรอความชัดเจนเรื่องเส้นทางจากทางกระทรวงคมนาคมออกมาด้วย
อินโฟเควส