- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 05 September 2014 18:57
- Hits: 2512
'กฟผ.'เลิกง้อซื้อก๊าซ'ปตท.' ตั้งทีมวางแผนนำเข้าเองมั่นใจหาได้ต้นทุนต่ำกว่า
ไทยโพสต์ : แจ้งวัฒนะ *กฟผ.ระดมบริษัทลูกเตรียมนำเข้าก๊าซใช้ผลิตไฟฟ้าเอง ชี้ปี 2558 แม้เปิดเสรีท่อ แต่จะไม่มีเอกชนรายใดเข้าใช้ เหตุต้องเตรียมตัวสร้างคลังกว่า 3 ปี เชื่อจัดหาก๊าซถูกกว่า ปตท. ช่วยค่าไฟฟ้าถูกลง
นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประ เทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งบริษัทลูก อาทิ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราช บุรีฯ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก ได้ร่วมกันจัดตั้งทีมงานขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้ของการนำเข้า ก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และบริษัทลูกในเครือ แทนการซื้อจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ ปตท.เตรียมแยกธุรกิจท่อก๊าซออกมาเป็นอีกหนึ่งบริษัท และเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้าใช้ท่อก๊าซได้
ทั้งนี้ การนำเข้าก๊าซมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเองแทนการซื้อจาก ปตท.นั้น เชื่อว่าจะช่วยประหยัดต้นทุนค่าดำเนินการต่างๆ ลงได้ อีกทั้งบริษัทในเครือ กฟผ. มีความต้องการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้ารวมกันสูงถึง 14,000-15,000 เมกะวัตต์ จึงเหมาะสมต่อการ นำเข้าก๊าซมาใช้เอง และมั่นใจว่าจะสามารถจัดหาก๊าซจากต่างประเทศได้ในราคาที่ต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับ ปตท. เพื่อ ไม่ให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประ ชาชนแพงเกินไป โดยแหล่งก๊าซที่ กฟผ.สนใจอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ แหล่งก๊าซในสหรัฐ แคนาดา และรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม หากเรกูเลเตอร์จัดทำหลักเกณฑ์การใช้ท่อก๊าซเสร็จในปี 2558 แต่ กฟผ. รวมถึงบริษัทอื่นๆ คงยังไม่สามารถเข้าไปใช้ท่อก๊าซได้จริง คงมีเพียง ปตท.รายเดียวเท่านั้นที่ใช้ท่อก๊าซต่อไป เนื่องจากการศึกษาพบว่า การนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศมาใช้เอง จะต้องลงทุนจัดหาสถานที่สร้างคลังเก็บก๊าซ รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมารองรับ ซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ดังนั้น ในปี 2558 จึงยังไม่มีเอกชนรายใดพร้อมเข้ามาใช้บริการท่อก๊าซ ปตท.ได้ แต่ กฟผ.จะเดินหน้าเพื่อนำเข้าก๊าซต่อไปในอนาคต
"ต่อไป กฟผ.คงต้องนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศมาใช้เอง เพื่อจะได้ประหยัดต้นทุนค่าดำเนินการต่างๆ และมั่นใจว่าจะจัดการก๊าซมาใช้ในราคาที่ถูกกว่า ปตท.ได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกลง และในเชิงธุรกิจนั้น เห็นว่า เมื่อนำเข้าก๊าซมาแล้ว ควรเปิดจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรายอื่นด้วย นอกเหนือจากใช้ในกิจการของ กฟผ.และบริษัทลูกแล้ว เพื่อเป็นทางเลือกในการแข่งขันทาง ธุรกิจต่อไป"นายพงษ์ดิษฐกล่าว
นายพงษ์ดิษฐกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา กฟผ. เคยเจรจากับ ปตท. เพื่อร่วมกันลงทุนคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แต่ขณะนี้กำลังพิจารณาใหม่เพราะเกรงจะเกิดข้อครหาว่า เป็นการผูกขาดก๊าซของผู้ประกอบการ 2 รายใหญ่ด้านพลังงาน