- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 01 April 2018 17:53
- Hits: 2289
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 2 - 6 เมย. 61 และสรุปสถานการณ์ฯ 26 - 30 มีค. 61
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง หลังผู้ผลิตเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิต ขณะที่อุปสงค์ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 2 เมษายน 2561
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (2 – 6 เม.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบคาดจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่ยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ได้ตกลงไว้ รวมถึง ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากโรงกลั่นทยอยกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจาก ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดจะปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับปริมาณแท่นขุดเจาะที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงประจำปี รวมถึง การส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดจะปรับเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานกำลังการกลั่นของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 23 มี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนที่ 16.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ภาวะอุปทานมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณอุปทานส่วนเกินในตลาดให้กลับมาสู่ระดับสมดุล โดยระดับความร่วมมือของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มตกลงที่ร้อยละ 138 นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียเสนอให้ปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องจนถึงปีหน้าและล่าสุดอยู่ระหว่างการหารือกับรัสเซียเพื่อหาข้อตกลงระยะยาว (10-20 ปี) ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบ
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องกว่า 2 สัปดาห์ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี โดย Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบสำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 797 แท่น ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 จากระดับต่ำสุดมาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.4 ล้านบาร์เรลต่อวันและคาดจะปรับตัวสูงขึ้นกว่า 11 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้
จับตาสหรัฐฯ และจีนว่าจะสามารถเจรจาหาข้อสรุปสำหรับสงครามทางการค้าได้หรือไม่ หลังในช่วงที่ผ่านมา นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามให้มีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มมากขึ้นมูลค่ากว่า 60 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากสินค้ากว่า 1,300 รายการ ส่งผลให้ประเทศจีนมีการตอบโต้โดยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่นกันเพื่อเป็นการตอบโต้ เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกว่าจะชะลอตัวลงและคาดจะกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันของโลก
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการของสหรัฐฯ อัตราการว่างงานสหรัฐฯ และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการของยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 – 30 มี.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 0.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 65.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยสหรัฐฯ ได้นำเข้าน้ำมันดิบมากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้ากว่า 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ กำลังการผลิตสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 ซึ่งแตะระดับเหนือ 10.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณแท่นขุดเจาะที่ปรับเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ 797 แท่น
อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกที่ปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกได้ปรับลดกำลังการผลิตกว่า 147 เปอร์เซ็นต์ นำโดยกำลังการผลิตเวเนซุเอลาที่ปรับลดลงมากกว่าครึ่งนับจากปี 2559 และซาอุดิอาระเบียที่เดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง