- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 30 March 2018 19:10
- Hits: 16416
ดัชนี ดาวน์โจนส์ปิดบวกหนุนราคาน้ำมันดิบ แม้สต๊อกสหรัฐฯ ปรับเพิ่มสวนคาดการณ์
+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นหลังอ่อนตัวตลอดทั้งสัปดาห์ โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่กลับมาปิดในแดนบวก ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น
+ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวน์โจนส์ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 254.69 จุด หลังหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดีดกลับกว่าร้อยละ 1-4 โดยนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการดีดกลับทางเทคนิคหลังมีแรงขายเป็นจำนวนมาก ในขณะที่นักลงทุนทั่วโลกยังคงมีความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งผลให้อัตราการถือครองหุ้นสหรัฐฯ แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี
+ ผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปกยืนยันที่จะคงอัตราการปรับลดกำลังการผลิตจนสิ้นสุดปี 2561 แม้ว่าราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของอิหร่านได้ออกมาเผยว่า โอเปกอาจมีข้อตกลงที่จะปรับลดอัตราการลดกำลังการผลิตของปี 2562 ได้ในการประชุมโอเปกเดือน มิ.ย. ที่จะถึงนี้ เพื่อควบคุมราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เผยข้อมูลปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับลดราว 287,000 บาร์เรล สร้างความกดดันให้กับตลาดน้ำมันดิบ แม้ว่าปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังทั้งเบนซินและดีเซลจะปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์ในประเทศอินเดียยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันเบนซินไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางลดลง นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากรายงานปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจากอุปทานเอเชียเหนือที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวดี โดยมีการซื้อขายน้ำมันดีเซลสำหรับส่งมอบเดือน เม.ย. อย่างต่อเนื่อง
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
การร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยระดับความร่วมมือระหว่างทั้งสองกลุ่มในเดือน ก.พ. แตะระดับสูงสุดตั้งแต่เริ่มข้อตกลง นอกจากนี้ กลุ่มผู้ผลิตยังมีแนวโน้มร่วมมือกันต่อเนื่องในการปรับลดกำลังการผลิตไปจนถึงปี 2562
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี โดย EIA รายงานกำลังการผลิตน้ำมันดิบในปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 มาแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 10.4 ล้านบาร์เรลต่อวันและปริมาณการผลิตคาดจะปรับตัวสูงขึ้นกว่า 11 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้