- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 09 March 2018 09:12
- Hits: 1336
กฟผ. และกรมชลประทาน ร่วมผลักดันพลังงานหมุนเวียน พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนผาจุกให้เกิดประโยชน์สูงสุด
กฟผ. ร่วมกับ กรมชลประทาน เดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนผาจุก จ.อุตรดิตถ์ ส่งเสริมการนำน้ำจากท้ายเขื่อนชลประทานมาใช้ประโยชน์ทั้งด้านการเกษตรและด้านพลังงาน คาดว่าสามารถผลิตไฟฟ้าปีละ 90 ล้านหน่วย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 45,833 ตันต่อปี
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งแประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน เขื่อนผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยนำน้ำที่ระบายจากเขื่อนทดน้ำผาจุกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านพลังงาน ณ หอประชุมเกษม จาติกวณิช สำนักงานใหญ่ กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเขื่อนประเภททดน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร การอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศในแม่น้ำน่าน เป็นหนึ่งในโครงการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 อนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อนของกรมชลประทานที่มีศักยภาพและความเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การผลักดันและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงาน และวิสัยทัศน์ในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านการเกษตรและด้านพลังงานร่วมกันสูงที่สุด
ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 โดย กฟผ. จะเข้าไปดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อน ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 7 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 14 เมกะวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ปีละ 90 ล้านหน่วย และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 45,833 ตันต่อปี โดยมีกำหนดจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2564
ทั้งนี้ กฟผ. ได้ร่วมกับกรมชลประทานดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการนำพลังงานน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ต้นทุนต่ำและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากเขื่อนของกรมชลประทานที่ระบายให้เกษตรกรใช้น้ำตามปกติมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า มาแล้วตั้งแต่ปี 2550 โดยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2550 ได้ลงนามในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานร่วมกัน 6 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนนเรศวร เขื่อนแม่กลอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ มีกำลังการผลิตรวม 78.7 เมกะวัตต์
จากนั้น เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ได้มีการลงนามเพื่อพัฒนาเขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนคลองตรอนเพิ่มอีก 2 เขื่อน กำลังการผลิตรวม 8 เมกะวัตต์ สำหรับ เขื่อนกิ่วคอหมาได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการทดสอบอุปกรณ์ และเขื่อนคลองตรอนอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง