- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 06 March 2018 10:20
- Hits: 2230
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 5 - 9 มี.ค.61 และสรุปสถานการณ์ฯ 26 กพ.- 2 มี.ค. 61
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 5 – 9 มี.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบคาดจะได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับลดลง ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาสูงกว่าระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าสูงสุดในรอบเดือนยังคงส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียที่ปรับลดลงหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่ยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตไปอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบยังคงปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น รวมถึงการผลิตน้ำมันดิบยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.0 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบปีนี้ที่ 423.5 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2513 ที่ระดับ 10.28 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมาและคาดจะแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวันในปลายปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกแทนที่รัสเซีย โดยผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 2 มีค. 61 ปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่หกมาอยู่ที่ระดับสูงสุดที่ 800 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เมย. 58
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนใหม่ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งมากกว่าเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 3 ครั้ง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเกินคาดและเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตในระดับที่ดีขึ้น โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่ามากขึ้นจะส่งผลให้นักลงทุนปรับลดการลงทุนในน้ำมันดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีราคาสูงขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น
จับตาสถานการณ์ในลิเบีย หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศจากการประท้วงของแรงงานและเกิดเหตุระเบิดท่อขนส่งน้ำมันดิบแถวเมือง Zawiya ส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียต้องหยุดดำเนินการผลิตและประกาศเหตุสุดวิสัย(Force Majeure) สำหรับการส่งออกน้ำมันดิบ El Feel ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 70,000 บาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียในเดือน ม.ค.61 อยู่ที่ 978,000 บาร์เรลต่อวัน
ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกคาดจะเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อเนื่องจนถึงปลายปีนี้เพื่อให้ปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD Oil Stocks) ปรับลดลงสู่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี นำโดยซาอุดิอาระเบียที่คาดจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไตรมาส 1/61 ต่ำกว่าระดับที่ตกลงไว้ รวมถึงเวเนซุเอลาที่ปริมาณการผลิตปรับลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี นอกจากนี้ รัฐมนตรีของซาอุดิอาระเบียคาดในปีหน้าจะหากลไกเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ หลังจากที่ข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตอาจผ่อนคลายลงหลังตลาดเริ่มกลับเข้าสู่สมดุล
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ GDP ไตรมาส 4/60 ยูโรโซน ดัชนีภาคบริการจีน (Caixin Service PMI) ดัชนีภาคการบริการ (Markit PMI) ของยูโรโซนและสหรัฐฯ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 ก.พ. – 2 มี.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 2.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 2.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงกดดันจากแรงขายทำกำไรและปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับ สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 23 ก.พ. 61 ปรับเพิ่มขึ้น 3.0 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 423.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นและการนำเข้าน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น