- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 19 February 2018 18:52
- Hits: 9490
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงและตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้น
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มการลงทุนในน้ำมันดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในสกุลเงินสหรัฐฯ จะมีราคาลดลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น
+ ราคายังได้รับแรงหนุนจากตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งทำให้การลงทุนในตลาดที่มีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นไป
- CFTC รายงานสถานการณ์ลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขาย NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.พ. พบว่าผู้จัดการกองทุนปรับลดปริมาณการถือครองสัญญาน้ำมันดิบสุทธิ (Net Long Position) ราว 31,427 สัญญา มาอยู่ที่ 477,682 สัญญา ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงมากที่สุดตั้งแต่ 29 ส.ค. 60
- ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 7 แท่นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ 798 แท่นในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ กำลังการผลิตของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 10.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดจะแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวันก่อนปี 2562
ราคาน้ำมันเบนซิน ตลาดสิงคโปร์ปิดดำเนินการเนื่องในวันตรุษจีน
ราคาน้ำมันดีเซล ตลาดสิงคโปร์ปิดดำเนินการเนื่องในวันตรุษจีน
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 61-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่่น่าจับตามอง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าต้นทุนการผลิต โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ก.พ. 61 ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับที่สูงสุดในรอบ 3 ปี
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล มาแตะระดับ 422.1 ล้านบาร์เรล
การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิต โดยในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 137% ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 99% หลังซาอุดิอาระเบียเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิต นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตของเวเนซุเอลาปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากผลกระทบของวิกฤติทางเศรษฐกิจและการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ