- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 08 February 2018 19:44
- Hits: 1626
ราคาน้ำมันดิบร่วงต่อ หลังสต็อกน้ำมันดิบ สต็อกน้ำมันสำเร็จรูป และกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 2 ก.พ. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 3.4 ล้านบาร์เรล ทางด้านปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 3.9 ล้านบาร์เรล
- กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ 2 ก.พ. 61 ปรับตัวสูงขึ้น แตะระดับ 10.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มแท่นการขุดเจาะน้ำมันดิบหลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ไปเมื่อช่วงเดือนก่อนหน้า
- นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ (โอเปก) และนอนโอเปก เช่น รัสเซีย จะร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตก็ตาม โดยล่าสุด EIA คาดการณ์การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2561 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปสู่ระดับ 10.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี 2562 จะอยู่ที่ระดับ 11.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ เพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบมากขึ้น
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินในตะกร้าหลัก ส่งผลให้นักลงทุนลดความสนใจในการซื้อสัญญาน้ำมันดิบ เนื่องจากสัญญามีราคาสูงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย เนื่องจากผู้เล่นบางรายยังคงสต็อกน้ำมันเบนซินต่อเนื่อง หลังคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันเบนซินจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปทานจากจีนและอินเดียที่เข้ามาในตลาดยังคงส่งผลกดดันให้ราคาปรับตัวลดลง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย หลังการส่งออกจากประเทศญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปทานในภูมิภาคยังคงปรับตัวลดลง จากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังในสิงคโปร์อยู่ในระดับต่ำ
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.พ. หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับจุดคุ้มทุนเฉลี่ยในการลงทุนผลิตน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันดิบจากหินชั้นดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐฯ
ความร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตยังอยู่ในระดับสูง โดยผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปริมาณน้ำมันคงคลังกลับมาสู่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี และรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือน ม.ค. ปริมาณการผลิตลดลงสู่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ และการเงินจากภาวะหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง