- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 03 February 2018 17:22
- Hits: 1532
สทน. จัดแถลงข่าวโครงการนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมาครั้งแรกในประเทศไทย ชูเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน ผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. จัดงานแถลงข่าวและเสวนาโครงการนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเพื่อสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมาอย่างถูกวิธี ถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ให้หันมาใช้พลังงานฟิวชันเป็นเทคโนโลยีทางเลือก ในวันพุธที่ 31 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุมดุสิตธานีฮอลล์ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เป็นหน่วยงานในการกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ สทน. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศอีกจำนวน 14 แห่ง จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาพลาสมาและพลังงานฟิวชันแห่งชาติขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาในการเตรียมพร้อมเพื่อใช้พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันเป็นพลังงานทางเลือก ตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในระบบผู้บริหารระดับสูงของประเทศ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจ
ในงานนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง ‘เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันสู่ไทยแลนด์ 4.0’ โดยเทคโนโลยีฟิวชันนั้นถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างสูงในหลากหลายประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น เราตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดเพื่ออนาคต สำหรับประเทศไทยเทคโนโลยีฟิวชันได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ พ.ศ. 2560-2569 )ของคณะกรรมการพลังานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้และเตรียมความพร้อม สำหรับการรองรับเทคโนโลยีฟิวชันให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดในอนาคต ตอบรับให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ สู่อุตสาหกรรมในปัจจุบันและอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้ ยังได้ ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ขึ้นกล่าวในหัวข้อเรื่อง ‘ทิศทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันของประเทศไทย’ โดยประเทศไทยนั้นมีความสนใจในเทคโนโลยีฟิวชันมามากกว่า 10 ปี เริ่มต้นจากการวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยใน สทน. และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาขยายผลจนเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง สทน และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีการเชิญนักวิจัยชั้นนำทั่วโลกมาให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ในด้านเครื่องมือวิจัย ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ล่าสุดเราเพิ่งได้รับเครื่องโทคาแมคขนาดเล็กจากประเทศจีน ซึ่งเจ้าเครื่องโทคาแมคนี้ถือเป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นเพื่อควบคุมให้เกิดปฏิกริยาฟิวชัน นับเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่เรามีนะปัจจุบันเพื่อที่จะนำพลังงานฟิวชันมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้
ภายในงานยังมีการเสวนาใน หัวข้อเรื่อง "นิวเคลียร์ฟิวชัน : นวัตกรรมพลังงานเพื่อมนุษยชาติ" (Fusion Energy : Innovative Energy for Human) จากผู้เชี่ยวชาญด้านฟิวชันระดับโลก โดย Dr.YasuhikoTakeiri, Director General of National of Fusion Science ประเทศญี่ปุ่น, Dr.Yuntao Song, Deputy Director of Institute of Plasma Physics ประเทศจีน, Dr.Tuong Hoang, Advisor of Director of Institute for Magnetic Fusion Research ประเทศฝรั่งเศสและ Dr.Jean Jacquinot, Advisory committee of ITER (โครงการ ITER หรือ International Thermonuclear Experimental Reactor เป็นการรวมตัวกันเพื่อทดลองด้านฟิวชันโดยสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย)
นอกจากนี้ ยังมีการนำนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน มาให้ความรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นในเชิงเกษตรกรรม ด้านอาหารที่มีส่วนช่วยในเรื่องของการฆ่าเชื้อโรค ในเชิงการแพทย์ อย่างการประยุกต์เทคโนโลยีพลาสมามาไว้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขอนามัยโดยใช้พลาสมาในการบำบัดแผลติดเชื้อและแผลเรื้อรัง พร้อมช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดเนื้อเยื่อใหม่ หรืออย่างการรักษาผิวหน้า การรักษาแผล ตลอดจนถึงการมีส่วนช่วยในเรื่องของการกำจัดขยะและของเสียอีกด้วย
จะเห็นว่าโครงการนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมา นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสามารถผลักดันประเทศไทยให้นำไปสู่ความทันสมัยในด้านต่างๆ และยังยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นส่วนหนึ่งของจุดเปลี่ยนที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่ระดับความเป็นสากล สามารถติดตามและรับข่าวสารของ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้ที่ www.tint.or.th หรือ โทร. 02-401- 9885 หรือ 02-401-9889 ต่อ 5995
"นิวเคลียร์ฟิวชัน: นวัตกรรมพลังงานเพื่อมนุษยชาติ"
(Fusion Energy: Innovative Energy for Human)
1. ธีมที่เราพูดถึงในวันนี้ คือ พลังงานฟิวชั่น:นวัตกรรมพลังงานเพื่อมนุษยชาติ ถ้าอยากให้ท่านลองเปรียบเทียบแหล่งพลังงานที่ใช้ในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานลม แสงอาทิตย์ หรือ แม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ฟิชชั่น ข้อได้เปรียบ เสียเปรียบของพลังงานฟิวชั่นเป็นอย่างไร ทำไมเราถึงบอกว่าฟิวชั่นจะเป็นพลังงานเพื่ออนาคต แล้วทำไมต้องเป็นพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่น
- พลังงานฟิวชันเป็นพลังงานแห่งอนาคต สามารถสร้างพลังงานมหาศาลเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างเพียงพอ เพราะเชื้อเพลิงมีอยู่มากมายในธรรมชาติ สามารถสกัดจากน้ำทะเล อีกทั้งยังไม่มีการปล่อยก็าซเรือนกระจก และไม่มีสารกัมมันตรังสีเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานจากเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ในน้ำหนักเชื้อเพลิงที่เท่ากันพลังงานฟิวชันจะให้พลังงานมากกว่าน้ำมันเป็นพันเท่า จึงเป็นพลังงานที่คุ้มค่ามาก ซึ่งในอนาคตพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังงานหลักในปัจจุบันจะหมดไป พลังงานฟิวชันจะเข้ามาทดแทนได้อย่างไม่ต้องกังวลใจ (โดย ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ)
- พลังงานฟิวชันจะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับเราในอนาคต ณ ปัจจุบัน เรายังขาดเทคโนโลยีบางอย่างจึงไม่สามารถควบคุมมันได้ดีพอ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่โรงไฟฟ้าได้ เราต้องพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอีกหลายอย่าง เราใช้เวลาพัฒนามาหลายสิบปี โดยเราสามารถทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในปี 1997 ที่ประเทศอังกฤษ นักวิจัยได้ทำการทดลองซึ่งสามารถให้พลังงานฟิวชันได้ถึง 16 เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ยอดเยี่ยม ปัจจุบัน มีการรวมตัวกันระดับนานาชาติเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน โดย สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าฟิวชันได้ในอนาคตอันใกล้ (โดย Dr.Jean Jacquinot, Advisory committee of ITER)
3. อะไรคือ ความท้าท้ายในการพัฒนาพลังงานฟิวชั่น ทำไมต้องใช้ระยะเวลานานในการศึกษาพัฒนาและปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สำเร็จ
- ความท้าทายหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันมีหลายเรื่อง มีเรื่องหลักๆ อยู่ 2-3 ประเด็น คือ เรื่องวัสดุศาสตร์ ซึ่งในการสร้างโรงไฟฟ้าต้องอาศัยวัสดุที่ทนความร้อนได้สูงมาก ในปัจจุบันนักวิจัยกำลังเร่งพัฒนาเพื่อสร้างวัสดุดังกล่าว ปัจจุบันพบว่า สามารถสร้างวัสดุทนความร้อนได้ใกล้เคียงกับที่ต้องการแล้ว อีกเรื่องคือ เรื่องตัวนำยิ่งยวด หรือ superconductor ที่มีประสิทธิภาพสูง ตัวนำยิ่งยวด เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างสนามแม่เหล็กในระดับที่ต้องการ อีกทั้งต้องสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานเพื่อพัฒนาไปสู่โรงไฟฟ้าได้ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง (โดย Dr.Tuong Hoang, Advisor of Director of Institute for Magnetic Fusion Research ประเทศฝรั่งเศส)
4. โครงการ ITERคือ โครงการสำคัญในการพัฒนาด้านนิวเคลียร์ฟิวชั่น เป้าหมายขณะนี้ของโครงการ ITER คืออะไร และเราจะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการ ITER นี้
- โครงการ ITER หรือ International Thermonuclear Experimental Reactor เป็นการรวมตัวกันเพื่อทดลองด้านฟิวชันโดยสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งจะเริ่มทดลองในปี ค.ศ.2025 โดยตั้งเป้าพิสูจน์ศักยภาพของเทคโนโลยีฟิวชันในการพัฒนาไปสู่โรงไฟฟ้าฟิวชัน ITER ถูกตั้งเป้าให้ผลิตพลังงานฟิวชันได้ถึง 500 เมกกะวัตต์ กำลังอยู่ในช่วงการก่อสร้างที่เมือง คาดาราช ประเทศฝรั่งเศส (โดย Dr.Jean Jacquinot, Advisory committee of ITER)
5. อะไรที่เราได้จากการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน เรามีนวัตกรรมอะไรที่ได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาด้านนิวเคลียร์ฟิวชัน ขอให้ช่วยยกตัวอย่างนวัตกรรมที่เกิดขึ้นแล้วในแต่ละประเทศ
- การพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันต้องอาศัยองค์ความรู้หลายอย่างเช่น ฟิสิกส์ วิศวกรรม วัสดุศาสตร์ นิวเคลียร์ เป็นต้น และต้องการพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุนหลายอย่าง เช่น เทคโนโลยีวัสดุทนความร้อนสูง เทคโนโลยีแม่เหล็กไฟฟ้า เทคโนโลยีตัวนำยิ่งยวด เทคโนโลยีพลาสมา เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เป็นต้น หลายประเทศที่ได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันมีการนำมาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้นำองค์ความรู้ด้านพลาสมาไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และการเกษตร ซึ่งมีประโยชน์มากมาย ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ประเทศจีนได้นำเทคโนโลยีตัวนำยิ่งยวดไปพัฒนาสู่การประยุกต์ด้านการแพทย์ เช่น การสร้างเครื่องโปรตรอนเทราปีเพื่อบำบัดมะเร็ง ซึ่งจีนสามารถเรียนรู้และสร้างได้ด้วยตนเอง หรือเทคโนโลยีวัสดุทนความร้อน สามารถใช้ในอุตสาหกรรมอวกาศหรือการบินได้ (โดย Dr.Yasuhiko Takeiri, Director General of National of Fusion Science ประเทศญี่ปุ่น, Dr.Yuntao Song, Deputy Director of Institute of Plasma Physics ประเทศจีน และ Dr.Tuong Hoang, Advisor of Director of Institute for Magnetic Fusion Research ประเทศฝรั่งเศส)
6. ฟิวชันดูเหมือนจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยเรา ถ้าประเทศไทยเราต้องการจะเข้าไปร่วมการวิจัยด้านฟิวชันที่ดำเนินการอยู่ในระดับโลก ในความคิดเห็นของท่านคิดว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน ที่เราจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาในระดับโลก
- เทคโนโลยีฟิวชันยังต้องมีการพัฒนาอีกหลายอย่าง เพื่อนำไปสู่การใช้จริงในโรงไฟฟ้าฟิวชัน สำหรับประเทศไทยสามารถเข้ามาสนับสนุนได้หลายเรื่อง ประเทศไทยมีบุคลากรในบ้างด้านที่เข้มแข็งมาก เช่น วัสดุศาสตร์ นิวเคลียร์ และรังสี เป็นต้น ประเทศไทยสามารถใช้ความเข้มแข็งเหล่านี้มาช่วยสนับสนุนได้ อีกทั้งเยาวชนไทยมีศักยภาพมาก สามารถร่วมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ การพัฒนาเยาวชนเข้าสู่การวิจัยในด้านเทคโนโลยีฟิวชันและเทคโนโลยีใกล้เคียง ซึ่งเราจะได้บุคลากรที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีชั้นสูงและจะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศในอนาคต (โดย Dr.Yasuhiko Takeiri, Director General of National of Fusion Science ประเทศญี่ปุ่น และ Dr.Yuntao Song, Deputy Director of Institute of Plasma Physics ประเทศจีน)
7. เทคโนโลยีฟิวชัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับคนไทย ถ้าไทยเราเริ่มพัฒนาเรื่องฟิวชัน ท่านคิดว่าประเทศเราจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างไร ท่านคิดว่าจะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หรืออุตสาหกรรมอะไรบ้างจากเทคโนโลยีฟิวชันนี้ และท้ายที่สุด คือ ประเทศไทยเรามีการเตรียมการอะไรอย่างไรบ้าง สำหรับพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน
- เทคโนโลยีฟิวชันเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทย และเป็นเรื่องที่ท้าทาย ประเด็นแรกที่เราจะได้ประโยชน์คือ เรามีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น ด้านหุ่นยนต์ ด้านวัสดุทนความร้อนสูง เป็นต้น บุคลากรเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เครื่องพลาสมาสำหรับการแพทย์เพื่อรักษาแผล ซึ่งทาง สทน. และมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องต้นแบบ และพัฒนาต่อยอดไปสู่รูปแบบของธุรกิจในอนาคต เทคโนโลยีพลาสมาสามารถไปใช้ในการเผาขยะซึ่งมีความสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงมาก ในอนาคตจะมีเรื่องของวัสดุทนความร้อนสูงที่ไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วย (โดย ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ)
ฟิวชัน (fusion ) คืออะไร ?
ฟิวชันใช้หลักการที่มีพลังงานปลดปล่อยออกมา จากการทำให้นิวเคลียสของอะตอมของธาตุเข้ารวมกัน ซึ่งแตกต่างจากกรณีของปฏิกิริยาฟิชชันที่ให้พลังงานออกมาจากการทำให้นิวเคลียสของอะตอมของธาตุแตกออก ซึ่งมีการใช้อยู่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปัจจุบัน ที่ใจกลางของดวงอาทิตย์ มีความกดดันจากแรงโน้มถ่วงมหาศาลทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชันได้ ที่อุณหภูมิสูงในระดับ 10 ล้านองศาเซลเซียสแต่บนโลกมีความดันต่ำกว่ามาก การทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชันต้องใช้อุณหภูมิที่สูงกว่า 100 ล้านองศาเซลเซียส จนถึงวันนี้ ยังไม่มีวัตถุใดบนโลกที่สามารถคงรูปอยู่ได้เมื่อสัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขนาดนั้น การทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชันให้ได้ นักวิทยาศาสตร์ต้องหาวิธีการแก้ปัญหา การกักเก็บก๊าซที่ร้อนจัด (super-heated gas) หรือพลาสมา (plasma) ให้รวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่นในสนามแม่เหล็กรูปวงแหวนหรือโดนัท
ทำไมพลังงานจากฟิวชันจึงเป้นที่ต้องการอย่างมาก?
เราไม่อาจเชื่อมั่นว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลจะไม่หมด อันดับแรก ปริมาณน้ำมันก๊าซและถ่านหินมีจำกัดและจะเริ่มลดลง อันดับต่อมา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น นอกจากนั้น ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ในปี 1990 ประชากร 75% ของทั้งโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ใช้พลังงานเพียง 33% เท่านั้น แต่ในปี 2020 ประชากร 75% จะเพิ่มเป็น 85% และการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 55% ซึ่งจะทำให้มีการแข่งขันกัน แสวงหาแหล่งพลังงานมากขึ้นบางคนคิดว่า fusion จะมีความปลอดภัยกว่า สะอาดกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลและเป็นแหล่งที่ให้พลังงานปริมาณมากออกมา
อะไรเป็นจุดเด่นของฟิวชัน ?
เชื้อเพลิงที่ดีที่สุดของปฏิกิริยาฟิวชัน ประกอบด้วยไฮโดรเจน 2 ชนิด หรือ 2 ไอโซโทป คือ deuterium กับ tritium ซึ่งแต่เดิมสกัดออกมาจากน้ำที่มีอยู่ปริมาณมากและพบได้ทั่วไป ต่อมาภายหลังสามารถผลิตได้จากลิเทียม (lithium) ซึ่งเป็นธาตุที่มีอยู่ปริมาณมากบนเปลือกโลก ปฏิกิริยาฟิวชัน แตกต่างจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เนื่องจากไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งนักวิทยาศาตร์ถือว่าเป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น นักวิทยาศาสตร์ด้านฟิวชันกล่าวว่า ระบบมีความปลอดภัยในตัวเองอยู่แล้ว ปัจจุบันประเทศมหาอำนาจทั่วโลกกำลังศึกษาเรื่องของฟิวชั่นและพลาสมา และเชื่อว่าจะสามารถสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่น เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากไม่มีการปลดปล่อยธาตุกัมมันตรังสีออกมา ซึ่งอาจจะใช้เวลาศึกษาทดลองร่วมกันถึง 50 ปี ฉะนั้นโครงการวิจัยและพัฒนาพลาสมาและฟิวชันในประเทศไทย เพื่อรวมผู้เชี่ยญชาญด้านนี้ในประเทศไทย เพื่อศึกษาและพัฒนาห้องปฏิบัติการ และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเทคโนโลยีสำคัญของโลกในอนาคต ปัจจุบัน 14 มหาวิทยาลัยที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านฟิวชัน กำลังรวมตัวกันเพื่อศึกษาเรื่องนิวเคลียร์ฟิวชันอย่างมีระบบ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
คำบรรยายใต้ภาพ
1-9 ภาพบรรยากาศและนิทรรศการแสดงผลงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.
10-11 พิธีกร : คุณดาว- อภิสรา เกิดชูชื่น
12-14 รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
15-17 ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
18-19 ภาพบรรยากาศการเสวนาหัวข้อเรื่อง "นิวเคลียร์ฟิวชัน : นวัตกรรมพลังงานเพื่อมนุษยชาติ" (Fusion Energy : Innovative Energy for Human)
20 ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช (พิธีกรรับเชิญ)
21 Dr.Yasuhiko Takeiri, Director General of National of Fusion Science ประเทศญี่ปุ่น
22 Dr.Jean Jacquinot, Advisory committee of ITER
23 Dr.Yuntao Song, Deputy Director of Institute of Plasma Physics ประเทศจีน
24 Dr.Tuong Hoang, Advisor of Director of Institute for Magnetic Fusion Research ประเทศฝรั่งเศส
25 ภาพบรรยากาศช่วงการเสวนา
26 ถ่ายภาพรวมผู้เชี่ยวชาญด้านฟิวชันระดับโลกร่วมกัน