- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 03 February 2018 13:37
- Hits: 5670
สนพ.หนุนใช้รถอีวีเพิ่มทางเลือกใช้พลังงาน เดินหน้าแผนอุดหนุนงบ Charging Station ครบ 150 หัวจ่ายในปีนี้
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มทางเลือกการใช้พลังงาน ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 1,200,000 คัน ทั้งแบบยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle) ภายในปี 2579
ทั้งนี้ ยานยนต์ไฟฟ้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันทั่วโลกมียานยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 2,000,000 คัน โดยเป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ประมาณ 1,200,000 คัน สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเริ่มตื่นตัวและมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมียานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในประเทศไทย 103,702 คัน แบ่งเป็น ยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งแบบไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) 102,308 คันและยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) 1,394 คัน ซึ่งในอนาคตจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังขยายตัว และจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนการวิจัยแบตเตอรี่ สนับสนุนการนำร่องยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถสาธารณะ อาทิ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น เตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้า การเตรียมความพร้อมด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) เป็นต้น
นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้รับมอบหมายจาก สนพ. ให้ดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) สำหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตั้งเป้าหมายสนับสนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ได้ 150 หัวจ่ายภายในปี 2561
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 25560 สมาคมฯ ได้มีการเปิดรับสมัครผู้สนใจที่เป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ขอรับการสนับสนุนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมแล้ว 4 รอบ ได้สถานีอัดประจุไฟฟ้ารวม 94 หัวจ่าย แบ่งเป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าหัวจ่ายแบบธรรมดา (Normal Charge) จำนวน 60 หัวจ่าย และสถานีอัดประจุไฟฟ้าหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge) จำนวน 34 หัวจ่าย โดยปัจจุบัน มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว 21 หัวจ่าย เช่น ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โครงการคริสตัลดีไซน์เซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด อาคารซีพี ทาวเวอร์ โรงแรม โซ โซฟิเทล เป็นต้น
สำหรับ ผู้สนใจขอรับการสนับสนุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ทางสมาคมฯ จะเปิดรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนเข้าร่วมโครงการฯ รอบที่ 5 ในระหว่างวันที่ 1-30 มีนาคม 2561 (ระยะที่ 1) จำนวน 31 หัวจ่าย โดยส่วนราชการ จะได้รับเงินสนับสนุนรวมค่าติดตั้งสำหรับ Quick Charge 1.8 ล้านบาท และสำหรับ Normal Charge 1.9 แสนบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจได้ค่าสนับสนุน Quick Charge 1 ล้านบาท สำหรับเอกชน ทางสมาคมฯ ให้การสนับสนุนร้อยละ 30 ของราคาหัวจ่ายประเภท Quick Charge
นายทวารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ขณะนี้รมว.พลังงานอยู่ระหว่างปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ โดยในส่วนของไฟฟ้าภาคใต้นั้น จะต้องดูแลเรื่องความมั่นคง เพียงพอรองรับเศรษฐกิจที่เติบโตได้ โดยกระทรวงพลังงานจะเร่งสรุปแผนพัฒนาไฟฟ้าภาคใต้เร็วที่สุด ส่วนแผน PDP คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 31 มีนาคมนี้
อินโฟเควสท์