- Details
- Category: ไฟฟ้า ลม โซลาร์
- Published: Monday, 22 February 2021 16:34
- Hits: 9114
’เมกะ โซลาร์ฟาร์ม’ MOU สะท้านแผ่นดินกองทัพบก กฟผ. เอกชน หนุนดันไทยเป็นฮับพลังงานสะอาดแห่งอนาคต
ผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงาน กว่า 30 บริษัท ตบเท้าเข้าพบ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 สนับสนุน ‘เมกะโซลาร์ฟาร์ม’ ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 30,000 เมกะวัตต์ สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและพลังงานของชาติ เตรียมยกประเทศไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดแห่งอาเซียน ในอนาคต เดินหน้า กฟผ.ศึกษาโครงการครบวงจร ผลิดสินแร่ควอท ทำโรงงานผลิดแผงโซลารเซลส์-แบตเตอรี่ และโซลาร์ฟาร์ม
พลโท รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ในฐานะตัวแทนกองทัพบก เปิดเผยถึง โครงการเมกะโปรเจคโซลาร์ฟาร์ม 30,000 เมกะวัตต์ ทั่วประเทศ ว่า หลังจากพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ระหว่างกองทัพบก โดยพลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยนายบุญยนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา ณ ห้องเบญจนฤมิต อาคารเบญจรังสฤษฎ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 โดยจะใช้พื้นที่ในการดูแลของกองทัพบกทั่วประเทศ จำนวน 4.5 ล้านไร่ มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมและพลังงานนั้น
ล่าสุด มีผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงาน กว่า 30 บริษัท ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ติดต่อเข้าขอรับทราบรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมแสดงเจตจำนงเข้าร่วมลงทุน ‘เมกะโซลาร์ฟาร์ม’ รวมถึงลงทุนในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ครบวงจร ทั้งการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ อุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการลดต้นทุน พลโท รังษี กล่าวว่า การตื่นตัวของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจพลังงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะร่วมกันเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ไปด้วยกัน ซึ่งในอนาคต กองทัพ พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดในอาเซียนด้วย
สำหรับ โครงการ’เมกกะโซลาร์ฟาร์’ ขนาดติดตั้ง 30,000 เมกะวัตต์ ในครั้งนี้ กองทัพบกร่วมกับ กฟผ. อยู่ในขั้นตอนการสำรวจพื้นที่ที่อยู่ในความปกครองของกองทัพบก เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสม สำหรับทำโซลาร์ฟาร์ม เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 300,000 ไร่ และจะใช้เงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 6 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีความเหมาะสมในการทำโซลาร์ฟาร์ม ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย กองทัพบก และ กฟผ.จะดำเนินการนำร่อง’เมกะโซลาร์ฟาร์ม’ ในพื้นที่ 3,000 ไร่ก่อน คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 300 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน และพร้อมเตรียมจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ ต่อไป
โครงการ 'เมกะโซลาร์ฟาร์ม' นับเป็นการปฏิรูปพลังงานไฟฟ้าครั้งสำคัญ ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าและเศรษฐกิจ โดยประเทศและประชาชนจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการ ดังนี้
1 ประชาชนจะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่ลดลง ประมาณยูนิตละ 2.50 บาท จากเดิม 3.50 บาท
- ประเทศจะลดการขาดดุลในการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการนำเข้าก๊าซและถ่านหิน ประมาณปีละ 700,000-800,000 ล้านบาท
- เป็นการระดมทุน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งการลงทุนในโครงการนี้ นับเป็นการฉีดเงินเข้าระบบ ทำให้เกิดการหมุนเวียนเพิ่มมูลค่าเป็น 8 เท่าของเงิน เนื่องจากผู้ที่ได้รับสัมปทานจะต้องซื้อวัสดุในการสร้างโซลาร์ฟาร์ม ในพื้นที่ที่ได้รับสัมปทาน
- ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนที่ว่างงาน เพราะต้องใช้แรงงานในพื้นที่ ดำเนินการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์ม
- สร้างความมั่นคงในด้านพลังงานไฟฟ้า โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร เมื่อค่าไฟฟ้าถูกลง ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตสู้กับประเทศคู่แข่งได้
- ช่วยเกษตรกรไทยในการจำหน่ายสินค้าเกษตร โดยใช้วิธี Barter Trade กับประเทศที่จำหน่ายเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ นำสินค้าเกษตรของไทยไปแลกกับอุปกรณ์อุปกรณ์โซลาร์ฟาร์ม ในมูลค่าเท่ากัน คิดเป็นเงินประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท
- ช่วยลดมลภาวะและสภาวะโลกร้อน อันเนื่องมาจากการใช้พลังงานสะอาด
- ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล โดยไม่ต้องอุดหนุนงบประมาณของรัฐ
- “ผมเชื่อว่า หากโครงการนี้ดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ยังจะส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย และจะส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทะยานทะลุ 2,000 จุด ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีกด้วย”พลโท รังษี กล่าว
- ส่วนโครงการด้านการเกษตรในพื้นที่กองทัพบกนั้น โครงการแรกจะใช้พื้นที่กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 1 กรมการสัตว์ทหารบก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ มาดำเนินโครงการมันสำปะหลังสะอาด และพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อพัฒนาชีวิตคนในพื้นให้มีคุณภาพ
- ทั้งนี้ การร่วมลงนามในข้อตกลงครั้งนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ช่วยลดมลภาวะบนพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการดูแลของกองทัพบกในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศรวมกว่า 4.5 ล้านไร่ อาทิ บริเวณพื้นที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 3 แสนไร่ ซึ่งคาดว่าจะมีความเหมาะสมในการทำโซลาร์ฟาร์ม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ