- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Monday, 12 July 2021 15:05
- Hits: 3905
ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังกลุ่มโอเปกพลัสขัดแย้งนโยบายการผลิต
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม 2564
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 12 – 16 ก.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังตลาดกังวลเรื่องความขัดแย้งในการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสเกี่ยวกับนโยบายการผลิตเดือน ส.ค. 64 เป็นต้นไปที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และยังไม่มีการกำหนดวันประชุมที่ชัดเจนเพื่อหาข้อสรุปดังกล่าว ซึ่งหากไม่มีการปรับเพิ่มการผลิตใดๆ จากกลุ่มจะทำให้ตลาดน้ำมันดิบโลกเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวในไตรมาส 3 และ 4 ได้ ในทางตรงกันข้ามตลาดยังคงกังวลว่าหากไม่มีข้อสรุปอาจเกิดสงครามราคาขึ้นและทำให้แต่ละประเทศผลิตเพิ่มขึ้นโดยไม่สนใจโควต้าของกลุ่มหรือไม่ ทั้งนี้ ราคาได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในสหรัฐฯ และยุโรป หลังประชากรส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์อีกครั้ง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ไม่สามารถข้อตกลงเรื่องลดกำลังการผลิตได้เนื่องจากการประชุมยืดเยื้อระหว่างวันที่ 1-2 ก.ค. และต่อเนื่องในวันที่ 5 ก.ค. และยังไม่มีการกำหนดวันประชุมครั้งต่อไป เนื่องจากกลุ่มโอเปกพลัสนำโดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซียตั้งเป้าที่จะเพิ่มกำลังการผลิตราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือน ส.ค. 64 จนถึง ธ.ค. 64 โดยจะเริ่มเพิ่มกำลังการผลิตราวเดือนละ 4 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. 64 และพิจารณาที่จะยืดระยะเวลานโยบายลดกำลังการผลิตจากเดิมสิ้นสุด เม.ย. 65 ไปยังปลายปี 65 เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่เห็นด้วยกับการยืดระยะเวลานโยบายลดกำลังการผลิตไปสิ้นสุดปลายปี 65 รวมถึงเรียกร้องให้กลุ่มโอเปกพลัสพิจารณาเพิ่มระดับการโควต้าการผลิตอ้างอิง (baseline production) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จากเดิมมีโควต้าการผลิตอยู่ที่ 3.168 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 3.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการลงทุนกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการระบุว่านอกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังมี อาเซอร์ไบเจน คูเวต คาซัคสถาน และไนจีเรีย ที่เรียกร้องขอเพิ่มโควต้าการผลิตอ้างอิงเช่นกัน
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ฉบับเดือน ก.ค. 64 คาดความต้องการน้ำมันโลกปี 64 เพิ่มขึ้นราว 5.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 63 แตะระดับ 97.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 5.41 ล้านบาร์เรลต่อวันจากรายงานฉบับเดือน มิ.ย. 64 โดย EIA คาดว่าภูมิภาคยุโรปจะมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น หลังคลายมาตรการล็อดดาวน์ แต่ภูมิภาคเอเซียจะกดดันความต้องการใช้น้ำมันโลก หลังยังเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 101.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 64 ราว 3.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สัปดาห์สิ้นสุด 2 ก.ค. 64 จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 5 แท่นแตะระดับ 475 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 212 แท่นหรือราว 81% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 63 ตามรายงานของ Baker Hughes
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในครึ่งปีหลังของปี 64 จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแตะระดับ 11.10 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ยังถือว่าลดลง 210,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 63 โดยมองว่าอุปทานน้ำมันดิบทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งอาจมากกว่าความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม EIA คาดว่าปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯปี 65 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 0.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 64 แตะระดับ 11.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังราคาน้ำมันดิบอาจทรงตัวในระดับสูง
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทวีปยุโรปเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับสูงที่ราว 50% ตามรายงานของบลูมเบิร์ก ทำให้หลายประเทศในทวีปยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และเริ่มมีการเปิดประเทศ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม หลายประเทศในทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ นำโดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า อันเนื่องมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ต้องมีการประกาศบังคับใช้มาตรล็อคดาวน์
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ EcoFin Meeting ของกลุ่มยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ และ สหราชอาณาจักรเดือน มิ.ย. 64 จีดีพีจีนไตรมาส 2/64 การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่น
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 – 9 ก.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 73.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงหลายสัปดาห์ต่อเนื่อง เป็นสัญญาณถึงการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันสหรัฐฯ หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับยุโรปที่เริ่มคลายมาตรการล็อคดาวน์
ทำให้ธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินการผลิต อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้แรงกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังอยู่ในระดับสูง จนทำให้ต้องมีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์อีกครั้ง รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสสำหรับเดือน ส.ค. 64 เป็นต้นไป ที่ทำให้ราคาผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ