- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Monday, 28 June 2021 08:13
- Hits: 12323
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง จากอุปสงค์ฟื้นตัวดีขึ้นในยุโรปและสหรัฐฯ ท่ามกลางคาดการณ์การเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน 2564
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 28 มิ.ย.– 2 ก.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวทรงตัวในระดับสูง หลังความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากการเดินทางระหว่างประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและการประกาศใช้วัคซีนพาร์สปอร์ตอย่างเป็นทางการในทวีปยุโรป นอกจากนี้ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสู่ระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 1 ปี สะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงจากความคืบหน้าการแจกจ่ายวัคซีนในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันอาจถูกกดดันจากสถานการณ์โควิด-19 ในแถบภูมิภาคเอเชียที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและมีการพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ในประเทศอินเดีย ขณะที่อุปทานในตลาดมีแนวโน้มปรับเพิ่มจากกลุ่มโอเปกพลัสที่จะมีการประชุมเพื่อหารือเรื่องกำลังการผลิตในเดือน ส.ค. 64 เป็นต้นไปในสัปดาห์นี้
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ราคาน้ำมันดิบมีทิศทางทรงตัวในระดับสูง จากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มดีขึ้นโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเพิ่มเติมในสหรัฐฯ และยุโรป หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภูมิภาคลดลงต่อเนื่องจากความคืบหน้าการแจกจ่ายวัคซีน โดยตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนล่าสุด ณ วันที่ 24 มิ.ย. เพิ่มเป็น 49.8% และ 37.4% ของจำนวนประชากรในสหรัฐฯ และยุโรปตามลำดับ
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปมีการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับผู้ถือวัคซีนพาร์สปอร์ต (EU Digital COVID Certificate) อย่างเป็นทางการวันที่ 1 ก.ค. 64 เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางภายใน 18 ประเทศกลุ่มสมาชิกได้โดยไม่ต้องกักตัว เพิ่มจาก 7 ประเทศที่มีการทดลองใช้นโยบายนี้ไปแล้วก่อนหน้า
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 แตะระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 1 ปี หลังจากความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯฟื้นตัวจากตัวเลขผู้ใช้รถใช้ถนนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย. 64 ปรับตัวลดลง 7.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.9 ล้านบาร์เรล
Bank of America (BofA) ปรับการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้าจาก 63 ดอลลาร์ต่อบาเรล เป็น 68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปรับการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็น 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาจะได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าอุปทานที่เข้ามาในตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ BofA ยังคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะสามารถขึ้นไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรลได้ภายในปี 2565
การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านและ 6 ประเทศมหาอำนาจยังคงไม่มีข้อสรุปหลังจากการหารือมาแล้วถึง 6 ครั้ง เนื่องจากยังไม่สามารถหาทางออกสำหรับสาระสำคัญของข้อตกลงดังกล่าวได้ ล่าสุดนาย Ebrahim Raisi ได้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอิหร่านเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาและจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่แทนประธานาธิบดีคนก่อนในวันที่ 3 ส.ค. โดยตลาดคาดนาย Ebrahim Raisi จะพยายามที่จะเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงนี้ให้สำเร็จเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศโดยการกลับมาส่งออกน้ำมันดิบซึ่งปัจจุบันยังคงถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ
นักลงทุนจับตาผลการประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร ในวันที่ 1 ก.ค. 64 (18th OPEC and Non-OPEC Ministerial Meeting) ที่จัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดน้ำมัน รวมถึงพิจารณาการปรับระดับการผลิตในเดือนถัดไป โดยก่อนการประชุมที่เกิดขึ้น ทางกลุ่มโอเปกพลัสมีการส่งสัญญาณที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจัยความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ขณะที่รัสเซียได้มีการขอเจรจากับทางกลุ่มเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเช่นกัน จึงทำให้ตลาดคาดว่าทางกลุ่มจะมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไปในการประชุมที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์นี้
ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภูมิภาคยังคงเป็นที่น่ากังวล โดยล่าสุดรัฐบาลอินโดนีเชียประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์เพิ่มเติมในหลายพื้นที่หลังผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปี นอกจากนี้มีการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ Delta Plus ในประเทศอินเดียซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์อินเดีย Delta โดยผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จะสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน มิ.ย.64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจีน เดือน มิ.ย.64 และ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน เดือน มิ.ย. 64
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 – 25 มิ.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 73.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 1 ปี หลังความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงจากความคืบหน้าการแจกจ่ายวัคซีนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังคงกดดันความต้องการใช้น้ำมัน และความกังวลจากกลุ่มโอเปกที่มีการส่งสัญญาณที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน ส.ค.64 เป็นต้นไปก่อนการประชุมที่จะถึงในวันที่ 1 ก.ค.64
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ