- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Monday, 05 April 2021 10:32
- Hits: 12257
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ขณะที่โอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตในระดับจำกัด
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 5 เมษายน 2564
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 59-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (5 – 9 เม.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบคาดจะได้รับแรงหนุน จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น อย่างเช่นกรณี สหรัฐฯ ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนปฎิรูปเศรษฐกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากการปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ อุปทานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับจำกัดและน้อยกว่าความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น หลังกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร พร้อมทั้ง ซาอุดิอาระเบีย มีมติเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นอย่างค่อยเป็นไปค่อยไป อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปคาดจะมีการออกมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติมเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของสหรัฐฯ ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนต้านไวรัสที่ปัจจุบันได้มีการฉีดไปแล้วกว่า 150 ล้านโดส หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 23.6 ของประชากรทั้งประเทศ
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงหลังความต้องการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปิดไปก่อนหน้านี้จากพายุฤดูหนาวสามารถกลับมาดำเนินการได้แล้วโดยส่วนใหญ่ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 26 มี.ค. 64 ปรับลดลง 0.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 501.8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรล
กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัส รวมทั้งซาอุดิอาระเบีย มีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยในเดือน พ.ค. ถึงเดือน ก.ค. โดยกลุ่มโอเปกพลัสจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นประมาณ 0.35 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. และเดือน มิ.ย. ขณะที่ สำหรับเดือน ก.ค. จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.441 ล้านบาร์เรลต่อวัน สำหรับซาอุดิอาระเบียจะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 0.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. ประมาณ 0.35 และ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ตามลำดับ โดยภาพรวมปริมาณการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปรมาณสุทธิยังคงน้อยกว่าระดับความต้องการใช้น้ำมันที่คาดว่าจะฟื้นตัว จึงไม่ส่งผลกดดันต่อตลาดมากนัก ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 28 เม.ย. เพื่อทำการทบทวนปริมาณการผลิต
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะขึ้นต่อเนื่องกว่า 8 เดือนติดต่อกัน โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 13 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 337 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุโรปและอินเดีย ส่งผลให้ล่าสุดจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากและหลายประเทศจึงต้องกำหนดมาตรการเข้มงวดทางสังคมและออกมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดเพิ่มเติม โดยล่าสุดสถานการณ์ในประเทศฝรั่งเศสค่อนข้างแย่ลงมาก หลังจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) ในฝรั่งเศสปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 63 ทำให้ ฝรั่งเศสประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นครั้งที่ 3 เป็นระยะเวลากว่า 3 สัปดาห์ ขณะที่เยอรมันได้มีการขยายระยะเวลาการล็อคดาวน์ไปสิ้นสุด 18 เม.ย.
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 64 ดัชนีภาคการบริการยูโรโซน เดือน มี.ค. 64 จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ และรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 มี.ค. – 2 เม.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 61.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากการใช้แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 มี.ค. ที่ปรับลดลง 0.8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรล
ขณะที่ การประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป รวมถึงซาอุฯ ที่จะทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ การปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นโดยสุทธิยังคงน้อยกว่าระดับความต้องการใช้น้ำมันที่คาดว่าจะฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน หลังตลาดคลายกังวลต่อความล่าช้าในการขนส่งน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ลดลง เนื่องจากสามารถทำการเคลื่อนย้ายเรือขนาดใหญ่ที่เกยตื้นขวางเส้นทางการสัญจรของเรือในคลองสุเอซของประเทศอียิปต์ได้แล้วเมื่อวันที่ 29 มี.ค. นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ในยุโรป ส่งผลให้หลายประเทศต้องใช้มาตรการเข้มงวดทางสังคมและการล็อกดาวน์อีกครั้ง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลง
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ